Search
Close this search box.
ครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายที่คุณแม่ต้องระวัง
พร้อมวิธีสังเกตอาการ

คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนล้วนต้องการให้ลูกในครรภ์มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่คุณแม่จำนวนไม่น้อยเลยที่เสี่ยงต่อ “ครรภ์เป็นพิษ” ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่อันตราย คุณแม่ตั้งครรภ์จึงจำเป็นต้องรู้ว่าตัวเองเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษหรือไม่ หมั่นคอยสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ หากเข้าข่ายมีความเสี่ยงหรือมีสัญญาณเตือนบางอย่างจะได้รับมือกับครรภ์เป็นพิษได้ทันเวลานะคะ

รู้จักภาวะครรภ์เป็นพิษ

รู้จักภาวะครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ (ในทางการแพทย์อาจเรียกว่า ความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์ หรือ ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์) คือ ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่เป็นอันตราย ซึ่งยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่าครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไรกันแน่ อาจมีสาเหตุมาจากสิ่งเหล่านี้ได้

  • ความผิดปกติของรก ทำให้มีสารบางชนิดไปกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  • มีภาวะโปรตีนหรือไข่ขาวรั่วออกมาปะปนอยู่ในปัสสาวะ
  • ไตทำงานผิดปกติ
  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือฮอร์โมนต่อมไร้ท่อบางตัว
  • กรรมพันธุ์

คุณแม่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ

หากมีประวัติตามข้อดังกล่าวนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงโอกาสในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้

  • คุณแม่มีโรคอ้วน เส้นเลือดไม่ค่อยดี ทำให้เกิดภาวะหัวใจตีบได้ง่าย
  • ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 18 ปี หรืออายุ 35 ปี ขึ้นไป
  • ระยะห่างของการตั้งครรภ์ ห่างจาก ครรภ์ก่อนหน้า มากกว่า 10 ปี
  • ตั้งครรภ์แฝด หรือมากกว่า 1 คน
  • ตั้งครรภ์ครั้งแรก
  • มีกรรมพันธุ์ หรือคนในครอบครัวเคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไต ไทรอยด์ แพ้ภูมิตนเอง (SLE) ฯลฯ

อาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ

1. ปวดศีรษะ บริเวณท้ายทอยหรือหน้าผาก ทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น

2. สายตาพร่ามัว มองเห็นแสงเป็นจุด ๆ เห็นแสงวูบวาบ บางขณะอาจตาบอด

3. จุกเสียดบริเวณหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่

4. มีอาการบวมมือ นิ้วมือ เท้า ใบหน้า

5. น้ำหนักตัวเพิ่มเร็วขึ้นผิดปกติ (ภายใน 1 สัปดาห์เกิน 1 กิโลกรัม)

6. ความดันโลหิตสูงขึ้น 140/90 มิลลิเมตรปรอท

7. ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ

ครรภ์เป็นพิษ บวมนิ้วมือ

คุณแม่สามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจกำลังเข้าข่ายภาวะครรภ์เป็นพิษได้ หากมีความรู้สึกว่าทารกดิ้นน้อยลง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม มีอาการปวดศีรษะ สายตาพร่ามัว หายใจลำบาก มีความดันเลือดสูง และรู้สึกว่ารองเท้าหรือแหวนที่เคยใส่ได้พอดี สบาย ๆ กลับถอดออกไม่ได้หรือคับขึ้น ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ล่ะก็ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดนะคะ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากครรภ์เป็นพิษ

ภาวะแทรกซ้อนของแม่ มีอาการชัก เกล็ดเลือดต่ำ น้ำท่วมปอด ไตวายเฉียบพลัน ตับอักเสบ เลือดออกในสมอง หากถึงขั้นรุนแรงอาจมีโอกาสเสียชีวิต

ภาวะแทรกซ้อนของลูก เจริญเติบโตช้า รกลอกตัวก่อนกำหนด หากถึงขั้นรุนแรงอาจมีโอกาสเสียชีวิต

*คุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษบางรายอาจต้องคลอดก่อนกำหนดเพื่อความปลอดภัยของทั้งเราและลูกน้อย

ฝากครรภ์

การป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ 100% แต่คุณแม่สามารถดูแลตัวเองเพื่อช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ด้วยการไปฝากครรภ์ตั้งแต่ที่รู้ตัวว่าท้องและต้องไปตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากเกิดอะไรขึ้นจะได้ทำการรักษาได้ทันเวลา

การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ

การรักษาครรภ์เป็นพิษทำได้ด้วยการคลอด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวันคลอดจากอายุครรภ์เป็นหลัก และเมื่อคุณแม่คลอดแล้ว จะเริ่มมีอาการดีขึ้นและหายจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้เอง

ครรภ์เป็นพิษ แบบไม่รุนแรง คุณแม่สามารถกลับบ้านได้ตามปกติ และยังต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายให้แน่ใจว่าหายจากภาวะครรภ์เป็นพิษแล้ว นอกจากนี้ยังต้องดูแลร่างกายด้วยการดื่มน้ำให้มาก พักผ่อนให้พอ และทานยาตามที่แพทย์สั่ง

ครรภ์เป็นพิษ แบบรุนแรง ในกรณีนี้คุณแม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลก่อน เพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ป้องกันภาะวะแทรกซ้อนอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

แม้ภาวะครรภ์เป็นพิษจะเป็นภาวะตั้งครรภ์ที่อันตราย แต่ถ้าเราทำการฝากครรภ์ตั้งแต่ที่รู้ตัวว่าท้องและหมั่นสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอก็จะยิ่งช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อภาวะอันตรายต่าง ๆ ได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คุณแม่ต้องระวัง 9 ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เสี่ยงต่อชีวิต

SHARE

RELATED POSTS

7 เคล็ด(ไม่)ลับ รับมืออารมณ์คนท้องแปรปรวน ทำตามนี้ได้ผลดีแน่นอน…
เผยวิธีห่อตัวทารกอย่างไรให้ลูกปลอดภัย สบายตัว พร้อมรับโลกใบใหม่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังข้องใจเกี่ยวกับวิธีห่อตัวทารกว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงให้ถูกต้องและปลอดภัย…
พ่อแม่ควรรู้ ปรอทวัดไข้สำหรับเด็กแบบไหนให้ผลลัพธ์แม่นยำสุด อุปกรณ์สำคัญที่พ่อแม่ควรมีติดบ้านเอาไว้อย่าง ปรอทวัดไข้…