Search
Close this search box.
ลูกหวงของเล่น ของใช้ ของกิน

เมื่อลูกหวงของเล่น จะสอนอย่างไรให้รู้จักแบ่งปัน

การหวงของเล่น ของใช้ หรือของกินเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กเล็ก เพราะพวกเขายังไม่เข้าใจแนวคิดการแบ่งปัน ไม่รู้ว่าทำไมต้องแบ่งของที่เป็นของตัวเองให้คนอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งหรือทะเลาะกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเดียวกัน หรือพี่น้องที่อายุไล่เลี่ยกัน บางครั้งก็อาจเกิดความขัดแย้งระหว่างลูกและพ่อแม่ได้ด้วยเช่นกัน

สิ่งสำคัญคือการสอนและฝึกฝนให้ลูกเข้าใจถึงการแบ่งปัน และรักษาสิทธิของตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อให้พวกเขามีทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

เหตุผลที่ลูกหวงของเล่น

ทำไมลูกหวงของเล่น

คุณพ่อคุณแม่อาจเคยได้ยินคำพูดว่า “เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว”  ที่ยังไม่เข้าใจโลก และกำลังเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบกายผ่านการทดลองด้วยตนเอง การหวงของเล่นหรือของใช้ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่เด็กใช้เพื่อพิสูจน์ว่าของชิ้นนั้นเป็นของตนเอง โดยไม่เข้าใจว่าสิ่งของบางอย่างเป็นของส่วนตัว บางอย่างเป็นของคนอื่น และบางอย่างสามารถแบ่งปันกันได้

สำหรับเด็กวัย 2-3 ขวบ ความสามารถในการควบคุมความต้องการยังพัฒนาไม่เต็มที่ การใช้คำพูดอธิบายเรื่องการแบ่งปันอาจทำให้เด็กเข้าใจยาก พ่อแม่จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง โดยไม่บังคับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการต่อต้านและพฤติกรรมหวงของเล่นที่ยาวนานกว่าเดิม

Do & Don’t เปลี่ยนลูกหวงของเล่น เป็นเด็กรู้จักแบ่งปัน

1. สอนลูกเรื่องสิทธิในสิ่งของ

สอนให้ลูกรู้จักสิทธิ เมื่อหวงของ

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่าของสิ่งไหนคือของเขา และสิ่งไหนที่ไม่ใช่ของเขา โดยลูกจะหวงของเล่นที่เป็นของตัวเองได้เท่านั้น และถ้าลูกไม่ชอบที่คนอื่นแย่งของตัวเองไป ลูกจะต้องดูแลของของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และคนอื่นก็คงไม่ชอบเช่นกันถ้าลูกไปแย่งของใครมา

2. เคารพสิทธิของลูก

ขออนุญาตก่อนหยิบของ เมื่อลูกหวงของเล่น

เมื่อลูกได้เรียนรู้ถึงสิทธิในสิ่งของของตัวเองแล้ว อันดับต่อไปคือการสอนให้ลูกเคารพสิทธิของตัวเองและผู้อื่น การหวงของเล่นหรือสิ่งของเป็นเรื่องปกติของทุกคน ดังนั้น หากลูกต้องการที่หยิบสิ่งของของคนอื่นก็ควรขออนุญาตและบอกเหตุผลกับเจ้าของก่อน เช่นเดียวกันหากคุณพ่อคุณแม่จะหยิบของของลูกก็ควรขออนุญาตก่อนเช่นกัน เช่น การหยิบของเล่นลูกไปทำความสะอาด ควรให้ลูกมั่นใจว่าลูกจะได้รับสิ่งของคืน ซึ่งการเคารพสิทธิเช่นนี้จะช่วยให้อาการหวงของค่อย ๆ ลดลง

3. เป็นตัวอย่างที่ดีในการแบ่งปัน

เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ให้ลูกหวงของเล่น

คนในครอบครัวมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการเสริมสร้างแนวคิดการแบ่งปัน ดังนั้น จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการแบ่งปัน อาจเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การแบ่งปันขนมหรือของเล่น เพื่อช่วยให้ลูกไม่หวงของเล่นและเข้าใจว่าการแบ่งปันทำให้เกิดความสุขและความสนุกสนานได้มากกว่าเดิม เมื่อลูกเห็นตัวอย่างการแบ่งปันของพ่อแม่ เด็ก ๆ ก็จะซึมซับพฤติกรรมและทำตามอย่างเป็นธรรมชาติ โดยสิ่งสำคัญคือต้องไม่ปลูกฝังความคิดว่าเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง เพราะอาจทำให้คนพี่รู้สึกไม่ยุติธรรมและคิดว่าตนเองไม่เป็นที่รัก ส่วนคนน้องก็อาจจะมีนิสัยเอาแต่ใจและหวงของเล่นมากยิ่งขึ้น

4. ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันอย่างเป็นธรรมชาติ

สอนให้ลูกมีส่วนร่วมการแบ่งปัน

คุณพ่อคุณแม่อาจหาสถานการณ์หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ลูกมีส่วนร่วมในการแบ่งปันอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น การบริจาคหรือจิตอาสา โดยไม่บังคับหรือดุด่าเมื่อลูกไม่ต้องการแบ่งปัน เนื่องจากลูกอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อปกปิดความอับอาย หากลูกเอาแต่ใจหรือหวงของเล่น ก็ควรพูดคุยอย่างใจเย็นเพื่อสอนทักษะการแบ่งปัน เช่น การปล่อยให้ลูกเล่นของเล่นของตัวเองไปก่อน ในขณะที่พ่อแม่ทำกิจกรรมอื่นเพื่อดึงดูดความสนใจ จากนั้นจึงสอบถามความพร้อมของลูก และชวนมาเล่นสนุกด้วยกัน เพื่อทำให้ลูกเรียนรู้ประโยชน์ของการแบ่งปัน

5. เข้าใจความรู้สึกไม่ว่าลูกจะอยากแบ่งปันหรือไม่

ชมเมื่อลูกแบ่งปัน ไม่ลงโทษถ้าลูกหวงของเล่น

การแสดงความเข้าอกเข้าใจเมื่อลูกมีพฤติกรรมหวงของเล่นหรือสิ่งของก็เป็นอีกหัวใจสำคัญในการเสริมสร้างทักษะการแบ่งปัน หากลูกแสดงอาการหวงของเล่นหรือสิ่งของ คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกพร้อมที่จะแบ่งปัน ไม่บังคับ หรือแย่งสิ่งของจากลูก เพื่อให้ลูกสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งของของตัวเองได้ ในขณะเดียวกัน หากลูกยอมแบ่งปันแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรชมเชยเพื่อเสริมสร้างพลังบวกเกี่ยวกับการแบ่งปัน และหลีกเลี่ยงการลงโทษเมื่อลูกยังไม่พร้อม เพื่อป้องกันการสร้างความคิดแง่ลบ

การสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปันเป็นการปลูกฝังทักษะทางสังคมที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีน้ำใจและมีสัมพันธ์ที่ดีในสังคม แม้ว่าการหวงของเล่นจะเป็นเรื่องปกติของเด็ก ๆ แต่การเป็นแบบอย่างที่ดีและการปลูกความแนวคิดอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ลูก ๆ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

SHARE

RELATED POSTS

รวมกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อย การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กวัยแรกเกิดถึง 3…