พ่อแม่ต้องระวัง! 6 โรคหน้าร้อนในเด็กส่งผลต่อสุขภาพลูกน้อย
เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนจัดมักมาพร้อมกับโรคบางอย่างโดยไม่ทันตั้งตัว ด้วยสภาพอากาศที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียบางชนิดและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เด็ก ๆ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ติดเชื้อหรือเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ บทความนี้ Cotton Baby จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปรู้จักกับ โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่พบบ่อย พร้อมวิธีป้องกันและแนวทางดูแลรักษาที่ถูกต้องกัน!
โรคที่มากับหน้าร้อนพบบ่อยในเด็ก…
โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ
ด้วยอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นทำให้เชื้อโรคเติบโตเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้อาหารเสียง่าย หรือมีเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำดื่ม รวมถึงสิ่งของที่เด็ก ๆ ได้สัมผัส จึงเป็นสาเหตุสำคัญของอุจจาระร่วงรุนแรงในเด็กเล็ก นอกจากนี้การล้างมือไม่สะอาดก่อนกินอาหารหรือหลังใช้ห้องน้ำก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
อาการ : อาการของโรคอุจจาระร่วงในเด็กจะเริ่มจากการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน อาจมีมูกเลือดร่วมด้วย เด็กบางคนอาจมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หากรุนแรงอาจทำให้เด็กขาดน้ำได้ ซึ่งสังเกตได้จากอาการปากแห้ง ตาโหล ซึม และปัสสาวะน้อย
วิธีดูแลและป้องกัน
- ให้ดื่มเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก เช่น อาหารมัน หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาจกระตุ้นให้ถ่ายมากขึ้น
- หากเด็กมีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายเป็นน้ำบ่อยมาก อาเจียนไม่หยุด หรือมีภาวะขาดน้ำ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ
- ดื่มน้ำสะอาดและหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าในทารก
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke)
โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกเกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป โดยไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียล ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อเด็ก ๆ เล่นกลางแจ้งเป็นเวลานานในสภาพอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน โดยเด็กเล็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่เพราะระบบระบายความร้อนในร่างกายยังทำงานไม่ดี
อาการ : ตัวร้อนจัด อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ เหงื่อออกน้อย หรือไม่มีเหงื่อออกเลย หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียน อ่อนเพลีย เป็นผื่นแดง ๆ ตามตัว หากอาการรุนแรงเด็กอาจหมดสติหรือมีภาวะชักได้
วิธีดูแลและป้องกัน
- รีบนำเด็กเข้าที่ร่ม และมีอากาศถ่ายเทสะดวก ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายที่รัดแน่น
- ให้เด็กนอนหงายและเช็ดตัว บริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย หากเด็กหมดสติหรืออาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กออกไปเล่นกลางแดดนานเกินไป โดยเฉพาะในช่วงแดดแรงจัด 10.00 – 16.00 น.
- ให้เด็กดื่มน้ำบ่อย ๆ และสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หากต้องออกไปข้างนอกควรให้เด็กสวมหมวกหรือพกพัดลมพกพาเพื่อลดความร้อน
โรคผดร้อน
โรคผดร้อนเกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบและเป็นผื่นแดงหรือเม็ดตุ่มใส พบได้บ่อยในเด็กเล็กเพราะต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ และมักเกิดขึ้นในสภาพอากาศร้อนชื้น โดยเฉพาะบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น คอ หน้าอก หลัง และข้อพับ
อาการ : มีผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกาย อาจรู้สึกคันหรือแสบ หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย อาจเกิดตุ่มหนองและอักเสบได้
วิธีดูแลและป้องกัน
- ดูแลให้บริเวณที่เกิดผดเย็นและแห้งอยู่เสมอ ซึ่งโรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่หากมีอาการอักเสบรุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
- ทาแป้งหรือโลชั่นที่ช่วยลดอาการระคายเคือง หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีสารเคมีรุนแรง และครีมโลชั่นที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเจลลี่เพราะจะทำให้รูขุมขนอุดตัน
- สวมเสื้อผ้าบางสบาย ที่ระบายอากาศได้ดี
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อนชื้นเป็นเวลานาน และอาบน้ำบ่อยขึ้นในช่วงอากาศร้อน
โรคไข้หวัดแดด
โรคไข้หวัดแดดเป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายปรับตัวไม่ทันเมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดดเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป แต่ไม่มีการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรียโดยตรง สาเหตุหลักของโรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการอยู่ในสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ระบบควบคุมอุณหภูมิทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะเด็กเล็กมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากร่างกายยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี
อาการ : เด็กที่เป็นไข้หวัดแดดจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป แต่ไม่มีน้ำมูกมากนัก อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ขึ้นสูงแต่ไม่มีอาการไอหรือเจ็บคอ ทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด (เพราะไข้แดดเป็นไข้จากความร้อนสะสม) ปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ตาแห้ง ปวดแสบกระบอกตา เป็นสัญญานของร่างกายที่บอกว่าความร้อนสะสมในร่างกายมากเกินไป หากเด็กมีอาการนี้ควรรีบพาพบแพทย์ทันที
วิธีดูแลและป้องกัน
- ให้เด็กดื่มน้ำบ่อย ๆ หรือเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่เพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป และไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้ภายในร่างกายร้อนขึ้นกว่าเดิม
- หลีกเลี่ยงการให้เด็กออกไปเล่นกลางแดดหรืออยู่ในที่อากาศร้อนจัด
- ร่างกายต้องการปรับอุณหภูมิอย่างช้า ๆ ควรหลีกเลี่ยงการเข้า-ออก สถานที่ร้อน-เย็นบ่อย ๆ
- สวมเสื้อผ้าบางเบา ระบายอากาศได้ดี หากต้องการออกไปกลางแจ้ง ควรสวมหมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันแสงแดด
- หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์
โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นอีกหนึ่งโรคที่มักเกิดในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากอากาศที่ร้อนอบอ้าว ส่งผลให้สัตว์มีความดุร้ายมากขึ้น ซึ่งโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส (Rabies Virus) ผ่านการถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ข่วน หรือเลียแผลเปิด หากเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทอาการจะรุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้
อาการ : เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปแล้วอากาศจะยังไม่แสดงออกทันที โดยผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการประมาณ 3 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือนหลังได้รับเชื้อ ในบางรายอาจใช้เวลาร่วมปีกว่าที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะแสดงอาการ โดยอาการเริ่มแรกจะเริ่มมีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ต่อมาผู้ป่วยอาจรู้สึกคันหรือปวดแปลบที่บริเวณแผล หากเชื้อเข้าสู่สมอง อาจมีอาการกลัวน้ำ กลัวลม กล้ามเนื้อกระตุก และหมดสติได้
วิธีดูแลและป้องกัน
- หากเด็กถูกสัตว์กัดให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที ให้สะอาดลึกถึงก้นแผลประมาน 15 นาที และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น กลุ่มยาโพวิโดนไอโอดีน (Povidone-iodine) แล้วรีบพาไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
- นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จนครบตามจำนวนเข็มที่สัตวแพทย์กำหนดและฉีดซ้ำทุกปี
- หากสัตว์ที่กัดมีเจ้าของให้ถามประวัติการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และคอยสังเกตอาการของสัตว์ที่กัดอย่างน้อย 10 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์ไม่มีอาการโรคพิษสุนัขบ้า
- ดูแลและป้องกันไม่ให้เด็กเล่นกับสัตว์ที่ไม่รู้ประวัติ
โรคไวรัสตับอักเสบ A
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อ Hepatitis A Virus (HAV) ซึ่งแพร่ผ่านการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น การกินอาหารที่ปรุงสุกไม่ดี หรือจากการสัมผัสสิ่งสกปรกที่มีเชื้อ
อาการ : เริ่มจากมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดท้อง และเบื่ออาหาร หลังจากไข้ลดแล้วจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หากพบว่าเด็กมีอาการตามนี้ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยทันที
วิธีดูแลและป้องกัน
- ให้เด็กกินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และใช้ช้อนกลาง
- สอนลูกรักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำเป็นประจำ
- พาเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ A
หน้าร้อนอาจนำพาหลายโรคร้ายมาสู่เด็ก ๆ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยป้องกันได้นะคะ เพียงแค่ดูแลสุขอนามัยอย่างเข้มงวด หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และเฝ้าสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติ อย่ารอช้า ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที เท่านี้ลูกน้อยก็จะปลอดภัยและสนุกกับหน้าร้อนได้อย่างไร้กังวลแล้วค่ะ