‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เทรนด์ที่พ่อแม่ยุคใหม่ควรรู้
เพื่อปกป้องคุณหนูตัวน้อย | Advertorial
สวัสดีค่ะคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน เชื่อว่าการเป็นพ่อแม่ในยุคปัจจุบันย่อมได้เจอกับความท้าทายใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะความท้าทายที่มองไม่เห็น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บุหรี่ไฟฟ้า ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและเยาวชนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเข้าถึงได้ง่าย หรือเด็กบางคนอาจมองว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องของเทรนด์ที่ใคร ๆ ก็ใช้กัน ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่อย่างเราสามารถทำได้คือการตื่นตัวและรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ลูกได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที
บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร?
บุหรี่ไฟฟ้า หรือที่รู้จักกันในชื่อ vape เป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่งที่ใช้กลไกไฟฟ้าในการสร้างความร้อนเพื่อทำให้น้ำยาภายในเครื่องกลายเป็นไอระเหย ที่โดยปกติในน้ำยาจะประกอบไปด้วยนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่มีอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยกำลังเติบโต และในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีไว้ครอบครอง นำเข้า หรือจำหน่าย
ทำไมเด็กรุ่นใหม่เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น?
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่เยาวชน จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ Global Youth Tobacco Survey : GYTS ปี พ.ศ. 2565 ของประเทศไทย พบว่าจำนวนเด็กที่มีอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นถึง 5.3 เท่า เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558 และยิ่งไปกว่านั้นยังมีข่าวพบว่ามีการทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กที่อายุเพียง 9 ขวบ สอดคล้องกับข้อมูลที่บอกว่าอายุเฉลี่ยของเด็กที่เริ่มต้นสูบบุหรี่ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากหลายสาเหตุตามที่ สสส. ได้วิเคราะห์ไว้ ดังนี้
1. บุหรี่ไฟฟ้าช่วยคลายเครียดได้
จากข้อมูลของ ThaiHealth Watch 2024 เผยว่าความเครียดคือปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เริ่มหันไปพึ่งพาอบายมุขต่าง ๆ เช่น สุรา กัญชา และบุหรี่ โดยสารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าจะไปกระตุ้นเซลล์สมองทำให้รู้สึกมีความสุข เด็ก ๆ จึงจดจำความสุขจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไว้จนอาจเสพติดและเลิกสูบไม่ได้ ถึงแม้ว่าในความจริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยคลายความเครียดอย่างแท้จริง
2. บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงง่ายเหมือนซื้อของออนไลน์
ในปัจจุบันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องง่ายดายไม่ต่างจากการซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน จากสถิติในปี 2566 พบว่ามีร้านค้าจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบนโลกออนไลน์ถึง 436 ร้าน และมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 250-350 บาท ทำให้เพียงแค่เด็กคลิกไม่กี่ครั้งก็สามารถมีบุหรี่ไฟฟ้ามาครอบครองได้แล้ว
3. แค่ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่กี่ครั้งไม่ถึงกับติดหรอก
เด็ก ๆ วัยแรกรุ่นเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากลอง และต้องการได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ เมื่อเห็นเพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงอยากจะลองบ้าง บวกกับความคิดที่ว่าแค่ลองสูบไม่กี่ครั้งไม่ถึงกับติดหรอก แต่ในความเป็นจริงแล้วในบุหรี่ไฟฟ้ามีน้ำยานิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่การลองสูบแค่ไม่กี่ครั้งก็นำไปสู่การติดบุหรี่ไฟฟ้าได้เช่นกัน
4. บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ แถมยังปลอดภัยกว่า
นักสูบหลายคนที่อยากเลิกสูบบุหรี่มวนเริ่มหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าด้วยความเชื่อที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า เพราะไม่มีกระบวนการเผาไหม้ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่แท้จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีอันตรายน้อยไปกว่าบุหรี่มวนเลย มิหนำซ้ำยังมีปริมาณนิโคตินเทียบเท่าบุหรี่ทั่วไปถึง 20 มวน ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะเสพติดสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าได้เช่นกัน
5. บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องของแฟชั่นที่ความหลากหลาย
จากคู่มือ ‘วัยรุ่นเหยื่อบริษัทบุหรี่’ เผยว่ากลุ่มเป้าหมายสำคัญของบริษัทบุหรี่ทั่วโลก เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ทดแทนลูกค้าเดิมที่เสียชีวิตไปจากการสูบบุหรี่ ดังนั้นทางบริษัทบุหรี่จึงได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกให้กับบุหรี่ไฟฟ้าด้วยการออกแบบให้มีดีไซน์ที่ดูน่ารักและเย้ายวน รวมถึงมีการแต่งกลิ่น แต่งสีให้มีความสดชื่น หอม หวานเพื่อให้นักสูบหน้าใหม่สามารถสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายยิ่งขึ้น
ผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพเด็ก 4 มิติ
อย่างที่ได้บอกไปว่าบ่อยครั้งที่โฆษณาทำให้เด็กและเยาวชนเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ในความเป็นจริงบุหรี่ไฟฟ้ากลับทำลายสุขภาพเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก โดยเฉพาะเด็กวัยกำลังโตที่ทั้งร่างกายและจิตใจยังพัฒนาไม่เต็มที่ เมื่อรู้ตัวอีกทีบุหรี่ไฟฟ้าก็ทำลายสุขภาพทั้ง 4 มิติไปเสียแล้ว
1. ผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพทางกาย
บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายไม่ต่างจากบุหรี่มวนเลย ไม่ว่าจะเป็น โลหะหนัก ฟอร์มาลดีไฮด์ ไดอะซิติล และอโครลิน ที่มีผลกระทบต่อปอด หัวใจ หลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะสารเสพติดอย่างนิโคตินที่มีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์สมองซึ่งขัดขวางพัฒนาการของเด็ก หรือแม้แต่ในบุหรี่ไฟฟ้าบางรุ่นที่บอกว่าไม่มีนิโคตินก็มีสารเคมีอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายก่อให้เกิดอาการไอเรื้อรังและปอดอักเสบได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้ายังมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM1.0 และ PM2.5 ที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ลึก และยากต่อการขับออกจากร่างกายโดยธรรมชาติ และจากข้อมูลของ สสส. ยังพบว่าในประเทศไทยผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุน้อยมีความเสี่ยงที่เกิดโรคปอดแฟบและปอดบวมจากการแพ้สารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้าได้อีกด้วย
2. ผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพทางจิต
นอกจากผลกระทบต่อร่างกาย บุหรี่ไฟฟ้ายังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็ก ๆ เนื่องจากสารนิโคตินจะทำให้เด็กมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และควบคุมอารมณ์ได้น้อยลง บางคนอาจเกิดภาวะซึมเศร้า ยิ่งไปกว่านั้นหากเด็กเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าไปแล้วก็จะรู้สึกกระวนกระวายและวิตกกังวลเมื่อไม่ได้สูบ ซึ่งอาการเหล่านี้จะบรรเทาลงใน 2-3 วัน
3. ผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพทางสังคม
แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อให้ได้รับการยอมรับในกลุ่มเพื่อน เพราะมองว่าเท่และเป็นเทรนด์ในหมู่วัยรุ่น แต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้เด็กถูกกีดกันจากสังคมที่ไม่สูบบุหรี่ได้เช่นกัน และบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กทดลองสารเสพติดอื่น ๆ หรือพัวพันกับการพนัน ซึ่งนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมาย เพราะเด็กในวัยนี้ยังขาดทักษะในการวิเคราะห์และตัดสินใจอย่างเหมาะสม
4. ผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพทางปัญญา
นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีผลกระทบต่อสมอง ทำให้ประสิทธิภาพการทำงาน ความจำ การแสดงออก การตัดสินใจลดลง และมีอาการสมาธิสั้น จนส่งผลกระทบต่อการเรียน รวมถึงงานวิจัยจากสหรัฐฯ ยังบอกอีกว่าเด็กที่เริ่มสูบบุหรี่ก่อนอายุ 14 ปี จะมีแนวโน้มเกิดภาวะสมองล้ามากขึ้น
ดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า
หลังจากได้ทราบถึงภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว พ่อแม่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าแล้วจะต้องทำอย่างไรจึงจะปกป้องลูกที่รักให้ปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า โดย สสส. ได้แนะนำแนวทางการดูแลไว้ ดังนี้
Card 4
- พ่อแม่ต้องตระหนักและเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า
- พ่อแม่ต้องเอาใจใส่และสอนลูกให้รู้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า และวิธีการปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนให้สูบบุหรี่ไฟฟ้า
- สังเกตพฤติกรรมเมื่อลูกมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ไม่ควรให้ลูกรู้สึกกดดันกับการถูกจับผิด
- ลดความเครียดที่ไม่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเริ่มพึ่งพาบุหรี่ไฟฟ้าในการผ่อนคลายความเครียด
- ช่วยเสริมความมั่นใจในตนเองให้กับลูก เพื่อป้องกันอบายมุข
- ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว และพูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
- ติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เมื่อต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
การป้องกันลูกจากภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มต้นได้ด้วยการตระหนักรู้ต่อความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอของพ่อแม่และการส่งต่อความรู้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกเข้าใจและเท่าทันอันตรายรอบตัว เพราะความปลอดภัยของลูกน้อยคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่ทุกคน