สังเกตให้ทันก่อนสาย ลูกน้อยเข้าข่ายเป็นโรคตาขี้เกียจหรือเปล่า
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินถึง ‘โรคตาขี้เกียจ’ กันมาบ้าง โรคนี้เป็นความผิดปกติของดวงตา สามารถพบในเด็กได้เช่นกัน และหากรักษาไม่ทันเวลาอาจทำให้ลูกน้อยสูญเสียการมองเห็นได้เลยนะคะ เพราะแบบนี้ Cotton Baby เลยจะพาไปทำความรู้จักกับโรคตาขี้เกียจให้มากขึ้น พร้อมทั้งบอกวิธีการสังเกตอาการความผิดปกติของลูกที่อาจเข้าข่ายโรคตาขี้เกียจ เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้ทันเวลา
โรคตาขี้เกียจ คืออะไร
โรคตาขี้เกียจ หรือ Lazy eye เป็นภาวะที่ดวงตาข้างหนึ่งมองเห็นภาพไม่ชัดเท่ากับอีกข้าง ทำให้การรับภาพของดวงตาข้างนั้นลดลง โดยจะแสดงอาการเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้ มักพบในเด็กตั้งแต่อายุ 0-7 ขวบ เพราะพัฒนาการการมองเห็นของเด็กจะเกิดขึ้นในช่วงอายุนี้ หลังจากนั้นจะหยุดพัฒนา ดังนั้นหากสังเกตว่าลูกมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคตาขี้เกียจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาทันที
สาเหตุของโรคตาขี้เกียจ
โรคตาขี้เกียจ มีสาเหตุมาจากโรคทางสายตา ดังต่อไปนี้
- เกิดจากโรคตาเข ตาเหล่ ที่เป็นอยู่แล้วตั้งแต่เกิด เด็กจะเลือกใช้ดวงตาข้างที่ปกติมองภาพ เพื่อไม่ให้เห็นภาพซ้อน โดยดวงตาอีกข้างหนึ่งจะไม่ได้ใช้งาน ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นที่ลดลง และจะมองไม่ชัดในที่สุด
- เกิดจากโรคสายตาสั้น ยาว เอียงมากเกินไป หรือสายตาไม่เท่ากันทั้งสองข้าง ถ้าหากค่าสายตาห่างกันมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลให้อาการโรคตาขี้เกียจเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เช่น ดวงตาข้างซ้ายสั้น 200 ดวงตาข้างขวาสั้น 800 เด็กจะเลือกใช้ดวงตาข้างซ้ายมองภาพเพียงข้างเดียว
- เกิดจากโรคตาที่บดบังการมองเห็น เช่น โรคต้อกระจก หนังตาตก
- เกิดจากโรคของจอประสาทตาและประสาทตา
- เกิดจากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคผิดปกติทางสายตาที่ส่งผ่านทางพันธุกรรมได้
รู้ได้อย่างไร…ว่าลูกกำลังเสี่ยงเป็นโรคตาขี้เกียจ
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสังเกตพฤติกรรมการมองเห็นของลูกน้อยภายในอายุ 7 ขวบ เพราะโรคตาขี้เกียจในระยะเริ่มต้นไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน แต่สามารถสังเกตอาการจากพฤติกรรมของลูกได้ เช่น
- เพ่งมองสิ่งต่าง ๆ มากจนเกินไป
- มองไม่ชัดในที่มืด
- เหม่อลอยมากผิดปกติ
ส่วนอาการในระยะที่แสดงความผิดปกติอย่างชัดเจน มีดังนี้
- ดวงตาไม่ขยับมองตามสิ่งของ
ตาเหล่ที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน
นอกจากการสังเกตพฤติกรรมและอาการที่แสดงอย่างชัดเจนแล้ว กลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติทางร่างกายก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคตาขี้เกียจได้สูง เช่น
- เด็กคลอดก่อนกำหนด
- เด็กมีความผิดปกติทางสมองและพัฒนาการ
- เด็กมีโรคประจำตัวที่สัมพันธ์กับโรคตา
คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคผิดปกติทางสายตา ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น โรคมะเร็งจอประสาทตา โรคจอประสาทตาเสื่อม
ควรพาลูกไปตรวจโรคตาขี้เกียจตอนไหน
การพาลูกน้อยไปพบจักษุแพทย์ในระยะเวลาที่เหมาะสม จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยการเกิดโรค และรักษาได้ทันท่วงที โดยแบ่งเป็นช่วงอายุ ดังนี้
- อายุประมาณ 3-6 เดือน: ในช่วงวัยนี้เป็นการตรวจการตอบสนองทั่วไป ซึ่งช่วงอายุนี้มักมีอาการผิดปกติที่อาจพบได้ เช่น การกลอกตาผิดปกติ ตาเหล่ หากตรวจพบและรักษาทันที ก็จะให้ผลการรักษาได้ดีที่สุด
- อายุประมาณ 3 ขวบ: ในช่วงวัยนี้เป็นระยะแรกที่สามารถวัดระดับมาตรฐานการมองเห็นได้ โดยเฉพาะในเด็กที่ดูเหมือนมีสายตาปกติ แต่แท้จริงแล้วอาจมีโรคตาขี้เกียจแฝงอยู่
- อายุประมาณ 5-6 ขวบ: ในช่วงวัยนี้มีการใช้สายตาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก มีโอกาสที่จะสายตาสั้นและเอียง จึงควรตรวจวัดหาค่าสายตา และตรวจหาโรคตาขี้เกียจเพราะในช่วงวัยนี้การรักษายังได้ผลดีอยู่
- อายุประมาณ 7-18 ปี: ในช่วงวัยนี้ควรพบจักษุแพทย์ทุก ๆ 1-2 ปี หรือเข้าพบตามอาการ รวมถึงมีโอกาสที่จะพบความผิดปกติทางดวงตาเพิ่มขึ้น
วิธีการรักษาโรคตาขี้เกียจ
การรักษาโรคตาขี้เกียจในเด็ก ยิ่งตรวจพบเร็วและทำการรักษาเร็ว โอกาสที่จะหายเป็นปกติก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยวิธีการรักษาในปัจจุบัน มีดังนี้ (ทุกวิธีต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว ไม่แนะนำให้ซื้อยารักษาเอง)
- การสวมแว่นตา – เป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของดวงตาข้างที่ผิดปกติ เพื่อให้เทียบเท่าอีกข้างหนึ่ง
- การปิดดวงตาร่วมกับหยอดยา – เป็นวิธีกระตุ้นการทำงานของดวงตาด้วยตัวเอง โดยปิดดวงตาร่วมกับหยอดยาข้างที่มองเห็นปกติให้มัวชั่วขณะ เพื่อบริหารการใช้ดวงตานั่นเอง
- การผ่าตัด – เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด โดยต้องทำร่วมกับการกระตุ้นดวงตาข้างที่ผิดปกติด้วย เพื่อการมองเห็นที่เป็นปกติ
โรคตาขี้เกียจสามารถป้องกันและหายขาดได้นะคะ หากตรวจเจอเร็วและรักษาได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลมากไป เพียงหมั่นสังเกตพัฒนาการด้านการมองเห็นของลูก โดยเฉพาะในช่วงวัย 0-7 ขวบ อีกทั้งควรพาไปตรวจวัดสายตาตามช่วงระยะเวลาที่ได้แนะนำไว้ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ดวงตาของลูกรักปลอดภัยจากโรคตาขี้เกียจได้แล้วค่ะ