ไข้อีดำอีแดง โรคติดต่อในเด็กที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย!
“ไข้อีดำอีแดง” กลับมาเป็นประเด็นที่น่ากังวลอีกครั้ง จากข่าวที่พบว่าจำนวนผู้ป่วยในเด็กเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5 – 15 ปี กลุ่มเสี่ยงสูง ที่ได้รับการติดต่อง่ายและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วหากไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม ฉะนั้นการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ สาเหตุ การแพร่กระจาย และวิธีการป้องกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองพร้อมรับมือและดูแลบุตรหลานให้ห่างไกลและปลอดภัยจากโรคไข้อีดำอีแดง ในบทความนี้ Cotton Baby จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ไปพร้อม ๆ กัน
โรคไข้อีดำอีแดง คืออะไร?
“ไข้อีดำอีแดง” (Scarlet Fever) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “สเต็ปโตคอคคัส กลุ่มเอ” (Group A Streptococcus) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคคออักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Strep Throat) เมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ผลิตสารพิษออกมา ทำให้เกิดอาการไข้และผื่นแดงทั่วร่างกาย และมีลิ้นแดงคล้ายสตรอว์เบอร์รี ซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม การพูดคุยใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ การสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเช็ดตัว
สังเกตอาการ “ไข้อีดำอีแดง” ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง
ไข้อีดำอีแดงมักจะแสดงอาการภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากได้รับเชื้อ โดยมีอาการดังนี้
- ไข้สูงและเจ็บคอ มักมีไข้สูงเฉียบพลัน (มากกว่า 3 องศาเซลเซียลหรือสูงกว่า) ร่วมกับมีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง (อาจมีหนองหรือจุดเลือดออกบนต่อมทอนซิล)
- ผื่นแดงทั่วร่างกาย หลังจากมีไข้สูง 1-2 วัน จะเริ่มมีผื่นแดง ลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ สาก ๆ คล้ายกระดาษทราย ซึ่งจะขึ้นตามลำตัว คอ แขน และขา โดยผื่นมักจะไม่ขึ้นที่ใบหน้า แต่แก้มจะเปลี่ยนเป็นสีแดงจัดคล้ายโดนแดดเผา และมีบริเวณรอบปากขาวซีด
- ลิ้นแดงคล้ายสตรอว์เบอร์รี ช่วง 1-2 วัน ลิ้นจะมีฝ้าขาวปกคลุม และมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายผลสตรอว์เบอร์ที่ยังไม่สุก ต่อมาอาการลิ้นฝ้าขาวจะลอกออก ทำให้ลิ้นมีสีแดงสดและตะปุ่มตะป่ำ คล้ายผลสตรอว์เบอร์รีสด
- ผิวหนังลอก หลังจากผื่นเริ่มหายประมาน 3-4 วัน ผิวหนังจะเริ่มลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น ซึ่งอาการผิวลอกนี้ในบางรายอาจจะเป็นติดต่อกันได้นานเป็นเดือน ควรหมั่นดูแลผิวหนังให้สะอาด และหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกา
- อาการอื่น ๆ ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต
วิธีการดูแลรักษาผู้ป่วย “โรคไข้อีดำอีแดง”
เนื่องจากไข้อีดำอีแดงเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จึงจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น การรักษาหลักสำหรับไข้อีดำอีแดงโดยทั่วไปแพทย์จะใช้ยา เพนนิซิลิน (Penicillin) อะมอกซิซิลิน (Amoxycillin) เป็นระยะเวลา 10 วัน แม้จะมีอาการดีขึ้นภายใน 3-4 วันแล้วก็ตาม ก็ควรรับประทานยาต่อเนื่องจนหมด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ไข้รูมาติก และภาวะไตอักเสบ
นอกจากนี้ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและของแข็ง เพื่อลดอาการระคายเคืองในคอ พร้อมกับแยกของใช้ส่วนตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และหากมีอาการแทรกซ้อน เช่น มีไข้ร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย ปวดตามข้อ มีตุ่มหรือก้อนใต้ผิวหนัง อาการบวม และปัสสาวะเป็นสีเลือดหรือมีเลือดปนให้รีบพบแพทย์ทันที
5 วิธีป้องกันโรคไข้อีดำอีแดง ที่พ่อแม่ควรรู้!
การป้องกันไข้อีดำอีแดงสามารถทำได้โดยปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดีได้ดังนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรให้ลูกล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างน้อย 30 วินาที พร้อมสอนวิธีการล้างที่ถูกต้องและเน้นให้เห็นความสำคัญของการล้างมือ โดยเฉพาะก่อนการรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือสัมผัสสารคัดหลั่งจากการไอ จาม และพยายามหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสตา จมูก ปาก เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย หากคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าคนใกล้ชิดป่วย ควรให้บุตรหลานหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด และไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
- สวมหน้ากากอนามัย หากจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรืออยู่ในที่สาธารณะ ควรให้ลูกสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการรับเชื้อ
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย
- หากติดเชื้อหรือมีอาการป่วย ควรให้หยุดเรียน หรือแยกตัวเด็กป่วยออกจากคนอื่น ๆ ทันที
ไข้อีดำอีแดง เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการดูแลที่เหมาะสมและถูกต้อง แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ การป้องกันโรคด้วยการรักษาสุขอนามัยที่ดีและระมัดระวังการแพร่เชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้พร้อมรับมืออยู่เสมอ เพื่อดูแลลูกรักให้ปลอดภัยจากโรคร้ายนี้ได้ อย่าลืมสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิดด้วยนะคะ หากพบว่าบุตรหลานมีอาการผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว