วิธีฝึกคัดลายมือแต่ละช่วงวัย
ให้ลูกลายมือสวย แถมสมาธิดี
การให้ลูกฝึกคัดลายมือเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เขาได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและได้ฝึกสมาธิไปในตัว ซึ่งเด็กแต่ละวัยจะมีการจับดินสอที่แตกต่างกัน ดังนั้น วิธีฝึกคัดลายมือจึงต้องแตกต่างกันไปด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงวัย และให้เขาได้มีความสุขกับการเขียน ซึ่งอาจทำให้เด็กบางคนมีแรงบันดาลใจอยากเป็นคนที่ลายมือสวยได้ รู้แบบนี้แล้ว..มาดูการฝึกคัดลายมือของแต่ละช่วงวัยกันก่อน
นอกจากการฝึกคัดลายมือแล้วยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อ หรือฝึกทักษะให้ลูกได้อีกนะ ตามไปอ่านเลย 12 กิจกรรมช่วงปิดเทอมยอดฮิต เสริมพัฒนาการสำหรับเด็ก
1-2 ขวบ
การให้ลูกฝึกคัดลายมือในช่วง 1-2 ขวบ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจก่อนว่ากล้ามเนื้อมือของเด็กจะทำได้แค่กำสิ่งของเท่านั้น ยังไม่สามารถจับดินสอแบบผู้ใหญ่ได้ การฝึกคัดลายมือจึงต้องให้เขาขีด ๆ เขียน ๆ ไปก่อน เพื่อให้เขาชินมือ แนะนำว่าให้ใช้ดินสอไม้ที่มีเหลี่ยม จะได้ไม่ลื่นมือ เมื่อกลิ้งตกจะได้หยุดได้ และอย่าเหลาดินสอแหลมจนเกินไป เพราะเด็กวัยนี้เวลาเขียนจะเคลื่อนไหวแขนทั้งท่อน ยังควบคุมแรงกดไม่ได้ ทำให้ไส้ดินสอหักบ่อย
2-3 ขวบ
ในช่วง 2-3 ขวบ เด็กจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กดีขึ้น เพราะหยิบจับสิ่งของบ่อย การจับดินสอจึงเปลี่ยนไปในลักษณะที่มือคว่ำลง นิ้วหัวแม่มือชี้ลง แต่ก็ยังไม่สามารถคัดลายมือโดยให้เขียนเป็นตัวอักษรได้ การฝึกคัดลายมือจึงควรปล่อยให้เขาได้ขีดเขียนอะไรตามจินตนาการของตัวเองไปก่อน และอย่าเพิ่งบังคับลูกโดยจับมือเขียน เพราะนั่นไม่ใช่วิธีที่ช่วยให้เขาเขียนหนังสือได้ไว จริง ๆ แล้วเป็นแรงจากมือของเราเองต่างหาก
ดังนั้น เวลาฝึกลูกคัดลายมือจึงไม่ควรเร่ง เพียงเพราะกลัวว่าลูกจะเขียนหนังสือเป็นช้ากว่าคนอื่น มิหนำซ้ำยังทำให้เขาอึดอัดและไม่ชอบการเขียนอีกด้วย ทางที่ดีปล่อยให้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเขาแข็งแรงขึ้นมาอีกนิดจะเป็นประโยชน์มากกว่าในการฝึกขั้นต่อไป
3-4 ขวบ
ช่วง 3 – 4 ขวบนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่ฝึกคัดลายมือได้ การจับดินสอจะเริ่มคล้ายผู้ใหญ่ แต่ยังใช้ทั้ง 4 นิ้วจับดินสออยู่ ซึ่งพ่อแม่อาจจะต้องมีตัวช่วยเพื่อให้เขาเรียนรู้การจับดินสอที่ถูกต้อง โดยการใช้ที่ช่วยจับ stetro pencil grip หรือ triangle pencil grip แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเร็วไปไหมที่ฝึกให้เขาคัดลายมือตอนนี้ เพราะเด็กช่วง 3 – 4 ขวบสามารถควบคุมกล้ามเนื้อมือแบบแยกส่วนได้แล้ว ควบคุมการหมุนได้ เวลาเขียนจะเคลื่อนไหวทั้งท่อนแขนและนิ้วมือ แนะนำว่าถ้าอยากฝึกคัดลายมือในช่วงนี้ควรเขียนตัวพิมพ์ใหญ่หรือตัวเต็มบรรทัดก่อน โดยให้เขียนตามเส้นประ เพราะเขายังเขียนไม่ตรงและทิศทางการหมุนยังกว้างอยู่ คุณพ่อคุณแม่สามารถซื้อสมุดคัดลายมือมาให้ลูกฝึกเขียนได้เลย
4-6 ขวบ
การฝึกคัดลายมือให้ลูกในช่วงวัยนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยวัย 4-6 ขวบ เด็กจะจับดินสอได้ถูกต้องและเขียนได้เร็วขึ้น เพราะมีการเคลื่อนไหวนิ้วมือขณะเขียนได้โดยไม่ต้องใช้แรงจากท่อนแขนเหมือนช่วงวัยที่ผ่านมา ในวัยนี้เด็กจะสามารถเขียนคำสั้น ๆ ได้แล้ว อาจจะเป็นชื่อตัวเองหรือเขียนคำว่ารักพ่อ, รักแม่ ฯลฯ บางคนเขียนสิ่งที่คิดได้ทั้งหมด แต่ประโยคอาจไม่ยาวนัก และลายมือยังโย้เย้ไปมา อีกทั้งขนาดตัวอักษรยังไม่ค่อยเท่ากันสักเท่าไร ดังนั้น ควรให้เขาค่อย ๆ ฝึกคัดไปเรื่อย ๆ เด็กจะเขียนเต็มบรรทัดได้เอง
ฝึกให้ลูกลายมือสวยได้อย่างไร
แน่นอนว่าการฝึกคัดลายมือนอกจากจะต้องการให้เขาเขียนหนังสือได้แล้ว ความคาดหวังของพ่อแม่อีกอย่างหนึ่งคืออยากให้ลูกลายมือสวย แต่ติดตรงที่ว่าคนในบ้านไม่มีใครลายมือสวยเลย ลูกก็คงจะลายมือไม่สวยเหมือนกัน ความเชื่อนี้ถือเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะจริง ๆ แล้วเรื่องลายมือสวยสามารถพัฒนาได้ เพียงแค่ฝึกฝนบ่อย ๆ
ทั้งนี้ พ่อแม่ไม่ควรกดดันเขา เพราะในการฝึกคัดลายมือเด็กจะต้องใช้ร่างกายหลายส่วนประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมือ แขน ลำตัว สายตา หลัง และท้อง เพื่อให้ตัวเองจดจ่อกับการเขียน หากอวัยวะต่าง ๆ ทำงานไม่สมดุลกันหรือออกแรงจากกล้ามเนื้อผิดส่วนก็จะทำให้เด็กเหนื่อยง่าย และเลือกที่จะทำอะไรลวก ๆ โดยไม่สนใจความสวยงามของตัวหนังสือนั่นเอง
การฝึกคัดลายมือจึงต้องเหมาะสมกับพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ให้กล้ามเนื้อและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายพัฒนาเต็มที่ เพื่อให้เขารู้สึกว่าการคัดลายมือไม่ใช่เรื่องยาก และเมื่อลูกของเราเริ่มชอบการเขียน เขาก็จะตั้งใจให้ลายมือออกมาสวยเอง และความตั้งใจนี้แหละจะทำให้เขาเป็นเด็กที่สมาธิดี