ดาวน์ซินโดรม พัฒนาการดีขึ้นด้วยพลังแห่งเสียงดนตรี
เด็กอาการดาวน์ซินโดรม จะมีพัฒนาการที่ช้าทั้งด้านการเข้าสังคม การเคลื่อนไหว และภาษา แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเสริมศักยภาพเหล่านี้ได้คือ ‘เสียงดนตรี’
ดาวน์ซินโดรมคืออะไร
หน้าตาที่สดใส รอยยิ้มจากใจ คำพูดที่น่าเอ็นดู ล้วนเป็นภาพลักษณ์ที่แสดงออกมาจากกลุ่มดาวน์ซินโดรม โรคทางพันธุกรรมประเภทหนึ่งที่เกิดจากมีภาวะโครโมโซมคู่ที่ 21 มีจำนวนเกินมา ผู้ป่วยโรคนี้จะมีการพัฒนาทางด้านสมองที่ล่าช้ากว่าคนปกติ
เด็กอาการดาวน์ซินโดรม สามารถเติบโตและมีชีวิตที่ยืนยาวได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่สิ่งที่สำคัญต่อพวกเขาคือการพึ่งพาตัวเองให้ได้ การเรียนรู้ที่จะโต้ตอบกับคนอื่นในสังคมเป็นเรื่องใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสอนสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกอย่างใจเย็น และเข้าใจ
วิธีการตรวจสอบโรคดาวน์ซินโดรม
ในปัจจุบันการตรวจอาการดาวน์ซินโดรมสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ โดยสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
- การอัลตราซาวน์
สามารถตรวจได้ตั้งแต่ครรภ์ 11-13 สัปดาห์ขึ้นไป โดยมีวิธีคือการอัลตราซาวน์เพื่อดูลักษณะต้นคอของลูกในครรภ์ หากต้นคอมีความหนาเกิน 4 มิลลิเมตร แปลว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นดาวน์ซินโดรม วิธีนี้ให้ผลที่แม่นยำถึง 80 เปอร์เซ็นต์
- การเจาะน้ำคร่ำ
วิธีนี้เป็นการตรวจที่แม่นยำมากที่สุด สามารถตรวจได้เมื่อครรภ์อายุ 16-21 สัปดาห์ แต่มาพร้อมกับความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกัน กระบวนการคือการเจาะเข้าไปในถึงน้ำคร่ำที่หุ้มตัวลูกอยู่ และดูดน้ำออกมาเพื่อตรวจหาความผิดปกติ
- การตรวจ NIFTY Test
วิธีนี้ถูกพัฒนามาจากการเจาะน้ำคร่ำที่ปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยมแล้ว การตรวจ NIFTY Test คือการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซมลูกในครรภ์โดยการเจาะเลือดของคุณแม่ เพื่อนำไปตรวจสอบกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม เหมาะสำหรับครรภ์อายุ 10-24 สัปดาห์ และมีความแม่นยำอย่างถึง 99 เปอร์เซ็นต์ คุณแม่สามารถเข้าไปอ่านเนื้อหาเต็มเกี่ยวกับการตรวจ NIFTY Test ได้ คลิกที่นี่เลย
ความผิดปกติของผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม
- การสื่อสาร
เด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมจะมีลิ้นที่ยื่นยาวออกมา ซึ่งจะขัดขวางการพัฒนาการพูดอย่างเห็นได้ชัด โดยจะเป็นอุปสรรคต่อการพูด ความชัดเจนของการพูด และข้อมูลที่ต้องการสื่อสาร
- การเคลื่อนไหว
กล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง นิ้วที่สั้น และความอ่อนแอของร่างกายที่มากเกินไป ทำให้เด็กที่มีอาการนี้จะมีขนาดตัวที่เล็กจนถึงปานกลาง แต่โดยทั่วไปแล้วจะเติบโตช้าและจะตัวเล็กกว่าเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน
- การรับรู้และความเข้าใจ
ความบกพร่องทางการเรียนรู้จะปรากฏอยู่ในเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งนี้จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล และไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กคนนี้จะสามารถพัฒนาการได้แค่ไหน
ถึงแม้ว่าดาวน์ซินโดรมจะเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และส่งผลต่อความผิดปกติทั้งสามด้านที่กล่าวไป แต่อาการของดาวน์ซินโดรมนั้นสามารถบำบัดให้ดีขึ้นได้ ด้วยดนตรีบำบัด
การใช้ดนตรีบำบัดอาการดาวน์ซินโดรม
ดนตรีบำบัด คือการรักษาประเภทหนึ่งที่นำดนตรีมาผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การร้อง หรือการเล่นดนตรี ก็ล้วนแต่เป็นการพัฒนาทั้งนั้น เมื่อพวกเขาฟังเพลง จะส่งผลต่อสมองซีกขวา ทางด้านจินตนาการและความผ่อนคลาย ในขณะที่ตัวโน้ตหรือจังหวะการเคาะของดนตรีจะส่งผลต่อการทำงานของสมองซีกซ้าย และช่วยศักยภาพด้านภาษา
การใช้ดนตรีบำบัด ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถพัฒนาศักยภาพของคนในกลุ่มโรคดาวน์ซินโดรมได้จริง และมีประโยชน์ต่อทักษะทางด้านสังคม ทักษะการเคลื่อนไหว และทักษะด้านความเข้าใจ
- พัฒนาทักษะทางสังคม และการสื่อสาร
การเรียนดนตรี จะช่วยให้เด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรม สื่อสารได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนแบบกลุ่มที่เอื้อให้เด็ก ๆ มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกันไปในเชิงบวก และทำให้พวกเขารู้สึกมีประโยชน์ต่อสังคมได้อีกด้วย
เด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมจะมีปัญหาต่อการพูดอย่างเห็นได้ชัดเจน การร้องเพลงจะช่วยให้เด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมพัฒนาการออกเสียงได้ เมื่อเสียงเพลงดังขึ้น พวกเขาจะเปล่งเสียงร้องทุกพยางค์ที่พวกเขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าคืออะไร แต่การร้องเพลงเป็นประจำ จะช่วยให้พวกเขาชินกับเสียงร้องนั้น ๆ และสามารถเปล่งเสียงออกมาได้ทันที เมื่อเขาต้องการที่จะสื่อสาร
สิ่งนี้จะมีประโยชน์ เมื่อเวลาที่พวกเขาต้องการจะพูดบางสิ่งบางอย่างออกไป เช่น การออกเสียง “บ” เมื่อเขาร้องตามเพลงไปแล้ว พวกเขาจะจดจำเสียงนี้และลักษณะรูปปากในการเปล่งได้ และการออกเสียงนี้จะเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เมื่อเขาต้องการพูดออกไป
- พัฒนาทักษะทางการเคลื่อนไหว
เด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรม จะเข้าใจทักษะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ช้ากว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน จังหวะดนตรีที่ซ้ำไปซ้ำมา จะช่วยเรื่องการเคลื่อนไหว การทำงานของมือและสายตา
การบำบัดด้วยด้วยดนตรีได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถพัฒนาเรื่องการเคลื่อนไหวของผู้มีอาการดาวน์ซินโดรมได้จริง อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะด้านการช่วยเหลือตนเอง สร้างกล้ามเนื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะแขนและขา
การนำดนตรีมาประยุกต์สอน สามารถเริ่มได้เพียงแค่นำพวกเขามานั่งหน้ากระจก และสอนให้พวกเขาร้องเพลงตาม โดยพวกเขาจะสังเกตจากปากของคุณพ่อคุณแม่ที่ขยับไปมา สิ่งนี้จะปรับปรุงทักษะด้านการพูดของเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมให้ลื่นไหลได้มากขึ้น และการพูดติดขัดได้ดีขึ้น
การเต้นพร้อมจังหวะเพลงก็เป็นอีกวิธีที่จะแสดงออกถึงความสุขและความสามารถในการแสดงออกของเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม อีกทั้งยังเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกายอีกด้วย
- พัฒนาทักษะทางด้านความเข้าใจ
การนำเพลงมาผสมผสานกับการเรียนรู้ของเด็กดาวน์ซินโดรม จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจและจดจำข้อมูลต่าง ๆ ผ่านเสียงเพลงได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าดนตรีจะช่วยเพิ่มความสามารถทางปัญญาให้กับเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมได้ดี
การเปิดจังหวะดนตรีซ้ำไปซ้ำมา จะช่วยให้เด็กอาการดาวน์ซินโดรมมีความทรงจำที่ดีมากขึ้น และยังจะช่วยให้พวกเขาอารมณ์ดี สนุกไปกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำอีกด้วย
งานวิจัยฉบับหนึ่งได้กล่าวว่า การร้องเพลงช่วยเสริมการเรียนรู้ทางด้านวิชาการ วิธีที่ดีที่สุดคือการทำซ้ำ เช่น เพลง Twinkle Twinkle Little Star ที่จะช่วยเสริมให้เด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมสร้างกลุ่มคำ หรือประโยคได้เอง นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถของการอ่านไปในทางที่ดีมากขึ้น
นอกจากนี้การแต่งเพลงให้เข้ากับภาพประกอบที่มีสีสันก็จะช่วยให้เด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมพัฒนาประสามสัมผัสด้านอื่น ๆ ได้ อีกทั้งยังเป็นวิธีที่เสริมความสนุกไปพร้อมกับการเรียนรู้ด้วย
ตัวอย่างของการใช้ดนตรีบำบัด
- การใส่จังหวะดนตรีเข้าไปในเนื้อหาที่ต้องการให้จดจำ เช่น การบวกเลข การจำหมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ หรือข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ
- การสอนให้เล่นดนตรี เช่น เปียโน เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว และสัมผัส
- การเล่นเกมส์เติมเนื้อเพลง ในช่องว่า เช่น “หากพวกเรากำลังสบาย จง … (ปรบมือพลัน)” เว้นว่างไว้เพื่อให้ลูกตอบ
- การพูดคำ หรือกลุ่มคำที่เพิ่มความซับซ้อนในจังหวะช้า ๆ ก็จะช่วยให้ลูกพยายามลอกเลียนแบบได้
ในปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมยังไม่สามารถทำให้หายขาดได้ การใส่ใจ ความเข้าใจ และการเลี้ยงดูพวกเขาที่มากกว่า จะช่วยเสริมสร้างเกาะป้องกันแห่งความรักของครอบครัวที่จะอ้อมล้อมเขาให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขเสมอ