รู้จัก ‘วัคซีนโรตา’ และ ‘วัคซีนไอพีดี’
วัคซีนพื้นฐานใหม่สำหรับเด็ก
วัคซีนเป็นสารที่ฉีดเข้าร่างกาย เพื่อป้องกันการเกิดโรคจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัสบางชนิด โดยเด็กไทยต้องฉีดวัคซีนพื้นฐาน 6 ชนิด ได้แก่ วัคซีนวัณโรค (BCG), วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (HBV), วัคซีนโปลิโอ (OPV), วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP), วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) และวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) นอกจากนี้ยังมีวัคซีนเสริมภูมิต้านทานอื่นๆ อีกมากมาย ล่าสุดสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สังกัดกระทรวงสาธารสุข กำลังจะประกาศให้ ‘วัคซีนโรตา’ และ ‘วัคซีนไอพีดี’ เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กเพิ่มเติมด้วย Cotton Baby จึงอยากชวนพ่อแม่ไปทำความรู้จักกันว่า วัคซีน 2 ชนิดนี้มีความสำคัญอย่างไร จะได้พาลูกน้อยไปเสริมภูมิต้านทานให้พร้อมสู้กับโรคภัยกันได้ทันเวลา
วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรตา:
เตรียมประกาศเป็นวัคซีนพื้นฐานในปี 2563
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายบ้านคงเคยได้ยินชื่อเชื้อไวรัสโรตามาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียในเด็ก ตั้งแต่วัยแรกเกิด-5 ปีอยู่บ่อยๆ พบการระบาดตลอดทั้งปีและระบาดรุนแรงในช่วงฤดูหนาว โดยเด็กจะได้รับเชื้อจากการนำสิ่งของหรือของเล่นเข้าปาก การทานนมและอาหารไม่สะอาด รวมถึงการสัมผัสเชื้อที่แพร่มาจากร่างกายพ่อแม่ เมื่อได้รับเชื้อนี้เข้าไปหนูน้อยจะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อาเจียน อ่อนเพลีย และมีไข้สูงถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการป้องกันไม่ให้เด็กรับเชื้อไวรัสโรตานั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นเชื้อที่ตายยากเมื่อเทียบกับไวรัสชนิดอื่น ต้องอาศัยการทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ หรือการต้มสิ่งของเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่หลายบ้านยังละเลย ทำให้ปัจจุบันมีสถิติเด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เสียชีวิตนับร้อย
วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรตา ทำจากเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้ฤทธิ์อ่อนลง สามารถนำเข้าสู่ร่างกายด้วยการหยอดแทนการฉีด โดยจะช่วยลดความรุนแรงของอาการท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรตาลงได้ เด็กๆ ควรรับวัคซีนอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิด ปัจจุบันในไทยมีบริการวัคซีน 2 ชนิด คือ RotarixTM ได้จากเชื้อชนิดเดียวคือเชื้อจากมนุษย์ และ RotaTeqTM ได้จากเชื้อ 2 ชนิดคือเชื้อจากมนุษย์และวัว ซึ่งทั้งสองมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน ทั้งนี้พ่อแม่สามารถพาลูกไปรับวัคซีนครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ และรับครั้งสุดท้ายในช่วงอายุไม่เกิน 8 เดือน การหยอดแต่ละครั้งควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 สัปดาห์ด้วย
ที่สำคัญอย่าลืมเฝ้าระวังด้วย เพราะมีเด็กกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มที่ไม่ควรรับวัคซีน นั่นคือ เด็กที่มีอาการแพ้วัคซีน มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง และเคยมีประวัติเกิดภาวะลำไส้กลืนกัน นอกจากนี้หากมีอาการป่วย หรือเพิ่งหยอดวัคซีนโปลิโอไป ควรเว้นระยะห่างประมาณ 14 วันก่อน ค่อยมารับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรตาต่อ
วัคซีนป้องกันเชื้อไอพีดี (IPD):
เตรียมประกาศให้เป็นวัคซีนพื้นฐานในปี 2564
โรคไอพีดีเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) สามารถติดต่อได้ผ่านทางเดินหายใจ การไอ และการจาม คล้ายการแพร่เชื้อของเชื้อไข้หวัด เมื่อติดเชื้อแล้วจะทำให้เกิดอาการหูอักเสบ คออักเสบ ไซนัส ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และหัวใจล้มเหลวได้ โดยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสได้ คือเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด, โรคปอดเรื้อรัง และโรคไตวาย สำหรับเด็กที่ติดเชื้อที่ระบบประสาทโดยเฉพาะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ซึมสลับกับงอแง และอาจชักได้ ส่วนเด็กที่ติดเชื้อในกระแสเลือด จะมีไข้สูง และงอแง หากปล่อยไว้อาจช็อกและเสียชีวิตได้
เดิมทีการรักษาโรคไอพีดีจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ระยะหลังเชื้อเริ่มดื้อยาทำให้ผู้ป่วยหายยาก จึงมีการคิดค้นวัคซีนมาป้องกันโรคอีกทางหนึ่ง โดยพ่อแม่สามารถเริ่มพาลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป เข็มต่อไปให้ฉีดเมื่ออายุ 4 และ 6 เดือน และครั้งสุดท้ายฉีดช่วงอายุ 12 – 15 เดือน สำหรับบ้านไหนที่ลูกอายุมากกว่ากลุ่มเสี่ยง แต่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนชนิดนี้มาก่อน สามารถปรึกษาแพทย์เรื่องระยะห่างแต่ละเข็มเพิ่มเติมได้
การยกระดับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรตา และวันซีนป้องกันโรคไอพีดี จากเดิมที่เป็นวัคซีนเสริมภูมิต้านทาน ซึ่งพ่อแม่จะเลือกพาลูกไปฉีดหรือไม่ก็ได้ (เพราะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง) มาเป็นวัคซีนที่เด็กทุกคนต้องได้รับ สะท้อนว่า การพัฒนาของเชื้อไวรัสและโรคต่างๆ นั้น เป็นภัยคุกคามสุขภาพของลูกที่พ่อแม่วางใจไม่ได้เลย จึงต้องเตรียมตัวรับมือก่อนสาย เพื่อให้เจ้าตัวเล็กเติบโตและแข็งแรงสมวัย