บอกต่อแม่บ้านมือใหม่
กับวิธีเก็บรักษาผักสดให้อยู่ได้นาน
ห้องครัวของบ้านคุณแม่มักประสบปัญหาต้องโละผักสวนครัวทิ้ง ทั้งๆ ที่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่าอยู่บ่อยๆ หรือเปล่า? กรณีนี้มักเกิดจากการจัดเก็บผักไม่ถูกวิธี ทำให้ผักเหี่ยว คล้ำ ขึ้นรา และเน่าเสียก่อนจะใช้หมด หากอยากคงสภาพผักให้สดน่ารับประทานได้นานยิ่งขึ้น ทั้งคุณพ่อ คุณลูกเห็นแล้วไม่อี๋ ลองนำสารพัด ‘วิธีเก็บรักษาผักสดให้อยู่ได้นาน’ เหล่านี้ไปปรับใช้ดูได้เลย
ประเภทของผักมีผลต่อการเก็บรักษา
ผักเก็บได้ในระยะสั้น (ประมาณ 1 สัปดาห์)
ส่วนใหญ่เป็นผักใบอ่อน ลำต้นอ่อน ผลฝ่อเร็ว เช่น ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย กะเพรา สะระเเหน่ โหระพา ถั่วฝักยาว ถั่วงอก ชะอม ผักกาดหอม ฯลฯ ซึ่งเเช่ตู้เย็นรักษาความสดไว้ได้ทั้งรากและลำต้น เวลานำมาปรุงอาหารจะตัดส่วนที่ไม่ใช้ทิ้งไป ผักประเภทนี้มักเน่าเร็วหรือมีใบเหี่ยวและเหลืองไม่น่ารับประทาน อยู่ได้นานประมาณ 1 สัปดาห์หลังเก็บเกี่
ผักเก็บได้ในระยะยาว (ประมาณ 2 สัปดาห์)
ส่วนใหญ่เป็นผักจำพวกใบเเข็ง ลักษณะใบเป็นกาบเรียงซ้อนกันหลายชั้น รวมถึงพืชที่กินผลได้ เช่น กะหล่ำปลี, ผักกาดขาว, คะน้า, มะระ, มะละกอ, มะเขือเทศ, มะเขือยาว, มะเขือเปราะ, มะเขือพวง ฯลฯ เวลาเก็บเกี่ยวจะไม่ถอนทั้งราก แต่จะตัดมาเป็นกอหรือเด็ดเป็นผลแล้วเหลือขั้วไว้ ทำให้อยู่ในตู้เย็นได้นานยิ่งขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์ – 2 สัปดาห์ครึ่ง
ผักเก็บได้นาน (ประมาณ 1 เดือน)
ผักเก็บได้นานเป็นเดือนมีทั้งที่โตบนดินอย่างพืชเปลือกหนาและเนื้อเยอะ ไม่ว่าจะเป็นฟักทอง, ฟักเขียว, แคร์รอต ฯลฯ รวมถึงพวกที่โตใต้ดิน เช่น มันฝรั่ง, ขิง, ข่า, กระชาย ฯลฯ โดยพืชสมุนไพรในกลุ่มที่โตใต้ดินนั้น เเม้เก็บเกี่ยวมาเป็นเดือนและสภาพเหี่ยวเฉาแล้ว ก็ยังคงกลิ่นและรสชาติเผ็ดร้อนไว้ได้ สำหรบผักเก็บได้นานนี้สามารถเก็บได้ทั้งในและนอกตู้เย็น
กลเม็ดวิธีเด็ดช่วยเก็บรักษาผักให้อยู่ได้นาน
เก็บในถุงซิปล็อก
มีผักหลายชนิดที่เหมาะกับการเก็บในถุงซิปล็อก โดยเฉพาะผักใบอ่อนและรากผักที่จำเป็นต้องมีในบางเมนูอย่างรากผักชี ใช้ได้ดีในกรณีที่ต้องการเก็บผักเป็นเดือนๆ วิธีการเก็บคือนำผักที่ซื้อมาคัดแยกใบเน่าทิ้งให้หมดอย่าให้เหลือแม้แต่ใบเดียว เพราะจะทำให้ใบที่สมบูรณ์เน่าตามไปด้วย จากนั้นนำผักที่คัดแยกแล้วไปห่อกับกระดาษทิชชู่อเนกประสงค์โดยไม่ต้องล้าง แล้วนำบรรจุลงถุงซิปล็อก ส่วนการเก็บรากผักชี ให้ตัดเอาเฉพาะส่วนรากไปล้างทำความสะอาดเศษดินออกให้หมด จากนั้นซับน้ำหรือผึ่งลมให้เหลือความชื้นน้อยที่สุด แล้วนำเก็บใส่ถุงซิปล็อกได้เลยโดยไม่ต้องห่อกระดาษ ทิปส์ที่สำคัญของการเก็บผักในถุงประเภทนี้คือ ต้องไล่อากาศออกให้ได้มากที่สุดจึงจะเก็บผักได้นาน จากนั้นนำเข้าแช่ช่องฟรีซ เมื่อต้องการใช้งานให้เอาผักออกมาเเช่ในน้ำเย็นจัดประมาณ 1 นาที ผักจะฟื้นตัวกลับมาเขียวสดพร้อมทาน
เก็บในถุงหูหิ้วพลาสติก
วิธีนี้เหมาะกับการยืดอายุผักใบอ่อนให้อยู่ได้นานกว่าปกติสัก 1 สัปดาห์ – 1 สัปดาห์ครึ่ง แนะนำให้นำไปปรับใช้เวลาคุณแม่ซื้อผักมากำใหญ่ๆ แล้วทานไม่หมดในคราวเดียว โดยเริ่มจากคัดแยกใบเน่าเสียทิ้งให้หมดโดยไม่จำเป็นต้องล้างทำความสะอาด เพราะยิ่งชื้นจะยิ่งทำให้ผักเน่าเร็ว จากนั้นนำผักที่คัดแยกแล้วไปห่อกับกระดาษทิชชู่อเนกประสงค์ แล้วใส่ลงในถุงหูหิ้วพลาสติก ระวัง! อย่ามัดปากถุงแน่นเกินไปจนเกิดอากาศสะสมในถุงเพราะผักจะเหลืองเร็ว ให้มัดปากหลวมๆ จากนั้นนำผักเข้าแช่ตู้เย็นในช่องธรรมดา
เอาลำต้นเเช่น้ำ
หากคุณแม่บ้านต้องการคงสภาพผักให้สดนานเสมือนซื้อมาจากตลาดใหม่ๆ วิธีนี้ไม่เลวเลย เหมาะอย่างยิ่งกับผักประเภทที่เน้นทานลำต้นและมีรากติดมาด้วย โดยเฉพาะหน่อไม้ฝรั่ง, ผักบุ้งไทย, ผักบุ้งจีน, ผักชีใบเลื่อย ไม่เว้นแม้แต่โหระพาซึ่งเป็นผักที่มีก้านเเข็ง สำหรับผักที่ซื้อมาแล้วไม่มีรากติดมาด้วยอย่างหน่อไม้ฝรั่งและโหระพา ควรตัดส่วนโคนต้นออกประมาณ 1 นิ้ว จึงค่อยเเช่น้ำ เพื่อเปิดปากท่อลำเลียงน้ำให้ลำต้นดูดน้ำไปเลี้ยงส่วนยอดได้ ส่วนผักที่ขายมาพร้อมรากสามารถนำลงแช่น้ำได้เลย หากวางไว้ในที่อากาศถ่ายเทเพียงพอและมีแดดรำไรส่องถึง เผลอๆ ผักจะแตกยอดอ่อนใหม่ๆ ออกมาให้เราได้ทานด้วย
ลวกให้สุกแล้วค่อยเก็บ
ผักบางชนิดก็เหมาะกับการทำให้สุกก่อนแล้วค่อยจัดเก็บ โดยเฉพาะผักตระกูลที่ไวต่อความชื้นในถุงพลาสติกอย่างพวกเห็ดฟาง เห็ดหอมสด และเห็ดนางฟ้า ข้อสังเกตง่ายๆ คือเวลาซื้อมามักต้องเปิดปากถุงไว้ตลอดเพื่อให้อากาศถ่ายเท หากนำแช่เย็นแบบสดๆ เลยจะเน่า ขึ้นรา และสีคล้ำเร็วมาก ลองหันมาจัดการด้วยวิธีการล้างทำความสะอาดทันทีหลังซื้อมา จากนั้นหันเป็นชิ้นแบบพร้อมใช้ปรุงอาหาร นำลงแช่ในน้ำเปล่าผสมน้ำมะนาวป้องกันสีคล้ำลง แล้วนำไปลวกในน้ำเดือดให้สุก ก่อนนำเห็ดไปน็อกน้ำเย็นและตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำ สุดท้ายบรรจุใส่ถุงแยกไว้สำหรับใช้งานเป็นครั้งๆ จะแช่ตู้เย็นในช่องธรรมดาหรือแช่ไว้ในช่องฟรีซสำหรับเก็บหลายๆ เดือนก็ได้ ส่วนเห็ดที่บรรจุมาในถุงสุญญากาศจะอยู่ได้นานกว่าเห็ดที่ไวต่อความชื้นอยู่แล้ว แม้ไม่ได้ลวกก่อนเก็บได้นาน แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกินกว่าที่ข้างบรรจุภัณฑ์แนะนำไปมากนัก
เก็บในพิมพ์ทำน้ำแข็ง
นอกจากเห็ดที่เหมาะกับการลวกให้สุขก่อนเก็บรักษาในตู้เย็นแล้ว วิธีการเดียวกันนี้ก็นิยมนำมาใช้เก็บผักใบอ่อนบางชนิด เช่น กะเพรา เทคนิคคือเด็ดเฉพาะใบของผักที่ต้องการเก็บรักษา นำมาล้างให้สะอาด แล้วนำลงลวกในน้ำเดือดให้สลด ก่อนตักขึ้นน็อกน้ำเย็นจัดเพื่อคงสีเขียวสวย จากนั้นตักขึ้นจากน้ำเย็นแล้วใช้อุ้งมือบีบน้ำออกจากผักให้ได้มากที่สุด ตามด้วยการแบ่งเป็นก้อนที่ใส่พอดีในพิมพ์ทำน้ำแข็ง แล้วนำเข้าช่องฟรีซได้ทันที เวลานำออกมาปรุงอาหารให้นำออกมาวางนอกตู้เย็นเพื่อคลายความเย็น แล้วนำไปปรุงต่อได้เลย
ผักบางชนิดไม่ควรเก็บด้วยกัน
ข้อควรรู้คือ ฮอร์โมนพืชในรูปแบบก๊าซที่เรียกว่า ‘เอทีลีน (Ethylene)’ ซึ่งมีมากในผักกลิ่นฉุนและผลไม้บางประเภท ไม่ว่าจะเป็นหอมหัวใหญ่ แอปเปิล และผลไม้ที่สุกงอม เป็นตัวเร่งทำให้ผักเน่าเร็ว และเปลี่ยนรสชาติผักได้ จึงมีคำแนะนำจากวงการวิทยาศาสตร์ให้เลี่ยงวางผักที่ไวต่อฮอร์โมนพืชดังกล่าวไว้ใกล้ผักผลไม้ที่ปล่อยเอทีลีนออกมาสูง เช่น ไม่ควรวางหอมใหญ่ไว้กับมันฝรั่งเพราะมันฝรั่งจะเน่าเร็ว หรือไม่ควรเก็บแอปเปิลไว้กับแครอทเพราะจะทำให้แครอทมีรสขมขึ้นได้
พอรู้เคล็ดลับของการเก็บผักสดให้อยู่ได้นานแล้ว วันไหนว่าง ๆ คุณแม่ลองใช้เวลามาจัดข้าวกล่องให้ลูกน้อยกันต่อเลยดีกว่า ส่องไอเดียการจัดข้าวกล่องเบนโตะ (Bento) ช่วยเรียกน้ำย่อยให้ลูก
อย่าลืมนำวิธีง่ายๆ เหล่านี้ไปปรับใช้ดูกันนะคุณแม่บ้าน รับรองหมดปัญหาซื้อผักมาทิ้งเพราะทานไม่ทันอย่างแน่นอน