5 ความเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณขณะตั้งครรภ์
ที่คุณแม่อุ้มท้องต้องรับมือ
การตั้งครรภ์ทำให้ผิวพรรณของแม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายจุด จนเกิดความไม่มั่นใจตามมา วันนี้ Cotton Baby จะพาว่าที่คุณแม่ไปดูกันว่า ‘ความเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณ
ขณะตั้งครรภ์’ มีอะไรบ้าง จะได้เตรียมตัวรับมือกันได้ถูกวิธี และมีความสุขกับการดูแลทั้งผิวและลูกน้อยไปพร้อมๆ กัน
ผิวแตกลายงา (Stretch Mark)
‘ผิวแตกลายงา’ เป็นปัญหาด้านผิวพรรณที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 90 เปอร์เซ็นต์ต้องเผชิญ โดยจะปรากฏเป็นลายเส้นสีชมพูพาดไปตามหน้าท้องและหน้าอก บางทีลามไปถึงสะโพก ก้น และต้นขาของคุณแม่ หากปล่อยไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและแดงอมม่วง ไล่ไปตามลำดับ ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากผิวหนังและเนื้อเยื่อขยายตัวอย่างรวดเร็วตามน้ำหนักตัวและขนาดของร่างกาย ส่งผลให้อีลาสตินและคอลลาเจนที่ผิวหนังชั้นในถูกยืดออก จนโครงสร้างคอลลาเจนถูกทำลาย เกิดเป็นรอยแตกที่มีความยาว 1-10 เซนติเมตร ยิ่งทิ้งไว้นานจนกลายเป็นรอยแตกเก่า (สีขาวคล้ายเส้นไขมัน) จะยิ่งรักษาให้หายยาก
วิธีรับมือผิวแตกลายงา
เคล็ดลับดูแลผิวแตกลายงามีหลายวิธี แต่ที่ง่ายที่สุดคงหนีไม่พ้นการให้อาหารผิว ทำให้ผิวมีความชุ่มชื้นและยืดหยุ่น ซึ่งช่วยลดโอกาสในการแตกลายงาได้ดี ทั้งนี้การเพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นไม่จำเป็นต้องมาจากการทาครีมเพียงเดียว แต่การดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอและเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ก็สำคัญ โดยเมนูที่แนะนำคือเมนูที่อุดมไปด้วยวิตามินอี วิตามินซี สังกะสี และซิลิกา เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนและป้องกันเนื้อเยื่อเสียหายได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตทั่วร่างกาย ก็ช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้ผิวหนังได้ ทั้งยังลดอาการเส้นเลือดขอด และอาการบวมที่ข้อเท้าของแม่ตั้งครรภ์ได้ด้วย
ผิวคล้ำเสีย (Mask Of Pregnancy)
เมื่อตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนของคุณแม่ จะเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นพิเศษ โดยฮอร์โมน 2 ชนิดนี้นอกจากมีผลโดยตรงต่อระบบสืบพันธุ์ การตกไข่ และการมีประจำเดือนแล้ว ยังมีผลกระตุ้นให้เม็ดสีเมลานินทำงานผิดปกติ จนสีผิวของคุณแม่คล้ำขึ้นด้วย ส่วนใหญ่สีผิวจะคล้ำขึ้นบริเวณใบหน้า เรียกว่า ‘กระและฝ้า (chloasma / melasma)’ นอกจากนี้ยังมักเกิดรอยคล้ำบริเวณคอ รักแร้ เส้นกลางท้อง รอบอก หัวนม รวมถึงริมฝีปากด้วย ความเปลี่ยนแปลงของผิวลักษณะนี้จะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นสีผิวก็จะเข้มขึ้นตามไปด้วย
วิธีรับมือผิวคล้ำเสีย
ไม่ต้องตกใจไป เพราะความเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนต้องเจอ เมื่อคลอดน้องแล้วรอยคล้ำที่เคยทำให้หมดความมั่นใจจะจางลงเอง ระหว่างอุ้มท้องคุณแม่ทำได้เพียงดูแลผิวพรรณที่บอบบางไม่ให้คล้ำลงยิ่งกว่าเดิม เริ่มจากเติมความชุ่มชื้นและวิตามินอีให้ผิว ซึ่งหาได้จากน้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก และโลชั่นต่างๆ หากจำเป็นต้องออกไปที่กลางแจ้งควรสวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว หรือกางร่ม เพื่อป้องกันผิวจากแสงแดดที่ทำให้ผิวเข้มยิ่งกว่าเดิม ที่สำคัญควรงดใช้น้ำหอม โรลออน และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกลิ่นสังเคราะห์รุนแรงทาตรงรักแร้หรือซอกคอโดยตรง เพราะสารเคมีจะยิ่งกระตุ้นผิวให้คล้ำขึ้น นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถใช้สูตรขัดผิวแบบบ้านๆ อย่าง ‘มะขามเปียกผสมน้ำผึ้ง’ สครับผิวเบาๆ แล้วทิ้งไว้สัก 5 นาที ก็ช่วยบำรุงผิวให้กระจ่างใสขึ้นได้เช่นกัน แต่อย่าลืมว่า หลังคลอดน้องแล้วควรบำรุงผิวต่อเนื่องด้วยสูตรเดิมที่ใช้ประจำต่ออีก 3 เดือน เพื่อคืนผิวกระจ่างใสเหมือนก่อนตั้งครรภ์ให้กลับมาโดยเร็ว
ผิวสว่างและมันมากกว่าปกติ (Pregnancy Glow)
ไม่เพียงแต่ปัญหาผิวคล้ำเสียที่ทำให้หนักใจ แม่ตั้งครรภ์บางคนยังกังวลใจกับผิวหน้าที่สว่างขึ้นอย่างผิดปกติด้วย ปัญหานี้ฟังดูคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ผิวแลดูเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงอาจแฝงไปด้วยความผิดปกติที่ก่อให้เกิดปัญหาผิวทั้งสิว ผิวอุดตัน ผดผื่น และรูขุมขนกว้างตามมา ทั้งนี้หน้าที่สว่างเกินไปเกินจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน และเกิดจากภาวะที่ร่างกายคุณแม่ผลิตเลือดได้มากกว่าปกติ เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงมดลูก และอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ทำให้สีผิวดูสว่างและเจือไปด้วยเฉดแดงมากขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มผู้หญิงที่มีผิวมันและผิวผสมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มักพบว่าเวลาตั้งครรภ์ผิวจะผลิตน้ำมันออกมามากกว่าปกติ จนเกิดเป็นความมันส่วนเกินบนใบหน้าตามมา
วิธีรับมือกับผิวสว่างและมันมากกว่าปกติ
คุณแม่หลายคนอาจมีความสุขกับใบหน้าที่ดูออร่าจากภาวะที่ผิวหน้าสว่างขึ้น เพราะนี่คือหนึ่งในสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังมีความสุขและอุดมสมบูรณ์ แต่หากสังเกตพบว่าใบหน้ามีความมันมากเกินไป อย่ามองข้ามไปเชียวนะ ไม่งั้นอาจต้องหนักใจกับปัญหาผิวที่รุนแรงกว่าเดิม ทางที่ดีควรหมั่นทำความสะอาดใบหน้าอย่างสม่ำเสมอ ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้าแบบไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อลดความมันส่วนเกินและลดการอักเสบของรูขุมขน ซึ่งอาจเกิดจากสิ่งสกปรกที่เกาะอยู่ตามผิว
เส้นเลือดขอด (Varicose Vein)
เส้นเลือดขอดเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ที่ทำร้ายผิวพรรณสุดหวงของคุณแม่ ทำให้เกิดอาการปวดขา เท้าบวม และเห็นเป็นรอยปูดคล้ายตัวหนอนตามผิวหนัง อาการนี้เกิดจากภาวะที่ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ผลิตเลือดได้มากกว่าปกติมากถึง 50% เมื่อลูกน้อยในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่ขึ้น สรีระของลูกจึงไปกดทับเส้นเลือดบริเวณหน้าท้องแม่ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและคั่งอยู่ในเส้นเลือดฝอย เมื่อเลือดคั่งมากๆ เส้นเลือดฝอยจึงแตกออกเป็นเส้นย่อยๆ คล้ายใยแมงมุม เรียกภาวะนี้ว่า Spider Vein เส้นเลือดขอดโดยมากมักเกิดกับคุณแม่ที่ต้องยืนนานๆ รวมถึงเกิดบ่อยกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก โดยบริเวณที่เกิดบ่อยจะอยู่ที่สะโพกและต้นขา เพราะเป็นอวัยวะที่ต้องรับน้ำหนักตัว แต่ก็มีบางกรณีที่เกิดบริเวณแก้ม คอ แขน และหน้าอกด้วย
วิธีรับมือกับอาหารเส้นเลือดขอด
คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น จนร่างกายปกติรับน้ำหนักได้ลำบากอยู่แล้ว จึงควรเลี่ยงการยืนนานๆ และควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อไม่ขาหรือร่างกายส่วนที่ถูกกดทับได้รับน้ำหนักมากเกินไป นอกจากนี้ยังควรเลี่ยงการนั่งท่าพับเพียบและไขว่ห้าง เพราะทำให้เลือดไหลเวียนลำบาก ส่วนเวลานอนหากอยากให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ให้ใช้หมอนหรือเก้าอี้เตี้ยๆ รองช่วงเท้าเพื่อยกให้สูงขึ้นกว่าศีรษะเล็กน้อย อาการเส้นเลือดขอดไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะผิวหนังที่ปูดจะแข็ง แห้ง และอักเสบกลายเป็นแผลได้
มีติ่งเนื้อที่ผิวหนัง (Skin Tags)
ติ่งเนื้อที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็กจิ๋ว อ่อน นุ่ม ผิวเรียบ และมีสีใกล้เคียงกับสีผิว เกิดบ่อยในผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วน เบาหวาน และผู้หญิงสูงวัย รวมถึงเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ได้เช่นกัน โดยมีผลมาจากการเจริญเติบโตของผิวหนังชั้นนอก เมื่อฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ติ่งเนื้อลักษณะนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่ผิวหนังอับชื้นและถูกเสียดสีเป็นประจำ เช่น รอบคอ รักแร้ รอบหน้าอกบริเวณรอยขอบชุดชั้นใน ขาหนีบ ฯลฯ ทั้งนี้ติ่งเนื้อจะไม่สร้างความเจ็บปวดใดๆ เว้นแต่ว่าเกิดอาการอักเสบ หรือมีเสื้อผ้าและเครื่องประดับไปเกี่ยวและเสียดสี
วิธีรับมือกับติ่งเนื้อที่ผิวหนัง
ติ่งเนื้อประเภทนี้ไม่ใช่หูด และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ปกติแล้วสามารถหลุดและหายไปเองได้เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 หรือ 3 โดยอาจหลุดตอนที่คุณแม่เผลอไปสะกิดติ่งเนื้อแบบไม่รู้ตัว หรือตั้งใจดึงติ่งเนื้อออกเอง เนื่องจากเนื้อส่วนที่งอกใหม่มีความอ่อนนุ่มและสามารถกำจัดออกได้ง่ายอยู่แล้ว ข้อควรระวังคือหากพบว่าติ่งเนื้อเปลี่ยนเป็นสีเข้มหรือสีแดงและมีเลือดซึมออกมา ไม่ควรหายาหรือครีมมาทารักษาเอง เพราะอาการอาจลุกลามและอักเสบมากว่าเดิม ทางที่ดีควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอาจเกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคมะเร็ง และโรคฝีหนอง ส่วนคุณแม่ที่คลอดน้องแล้วแต่ติ่งเนื้อยังไม่หายไป สามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อหาวิธีทางการแพทย์หรือศัลยกรรมตัดติ่งเนื้อออกไปได้
แม้ความเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณขณะตั้งครรภ์ จะสร้างความกังวลใจให้ว่าที่คุณแม่อยู่ไม่น้อย แต่นั่นกลับเทียบไม่ได้เลย กับความรู้สึกตื่นเต้นตอนนับวันรอพบหน้าลูกน้อย ฉะนั้น Cotton Baby จึงอยากชวนว่าที่คุณแม่ปรับมุมมอง รักษาสภาพผิวไปตามอาการ แล้วมีความสุขกับร่างกายของตัวเองกันดีกว่า ร่างกายที่เป็นบ้านหลังแรกของลูก