Helicopter Parent คืออะไร
ดูแลลูกอย่างดีแต่ทำไมเหมือนพ่อแม่รังแกหนู
พ่อแม่หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมลูกเราถึงไม่ยอมโตสักที ดูแลตัวเองก็ไม่ค่อยได้ จนอาจต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่าที่ลูกเป็นแบบนี้เพราะวิธีการเลี้ยงดูที่ผิดพลาด จากการที่พ่อแม่เข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตลูกมากเกินไป จนกลายเป็น Helicopter Parent หรือเรียกเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า พ่อแม่รังแกฉัน แล้วทำไมการพยายามดูแลลูกรักด้วยเป็นความห่วง กลับถูกมองว่าเป็นการทำร้ายลูก ในบทความนี้เราจะพาไปดูกันว่า Helicopter Parent คืออะไร และส่งผลกระทบอย่างไรต่อลูก
ทำไมถึงเรียกว่า Helicopter Parent
Helicopter Parent คือพ่อแม่ที่ปกป้องและมีส่วนร่วมกับชีวิตลูกจนมากเกินไป ราวกับเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่บินวนรอบตัวลูก และพร้อมที่จะลงจอดเข้าช่วยเหลือลูกทันทีที่มีปัญหา หรือบางครั้งแม้จะเพียงแค่สัมผัสได้ถึงสัญญาณของปัญหาก็จะรีบพุ่งตัวเข้าไปช่วย ด้วยความกังวลและเป็นห่วงลูกจนเกินเหตุ
คำว่า ‘Helicopter Parent’ ปรากฏครั้งแรกในหนังสือ ‘Between Parent and Teenager’ ของ ดร. เฮม จีนอตต์ (Dr. Haim Ginott) ในปี ค.ศ. 1969 ซึ่งเล่าเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่แม่คอยบงการเขาราวกับเป็นเฮลิคอปเตอร์ หลังจากนั้นคำว่า Helicopter Parent ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงต้นปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวมิลเลนเนียลรุ่นแรก ๆ เติบโตเป็นหนุ่มสาว โดยพ่อแม่ของคนเจนนี้จะมีความเป็นห่วงเป็นใยเป็นพิเศษ เนื่องจากโตมากับเหตุการณ์ 911 และการล่มสลายของเศรษฐกิจ ในปี 2000 และ 2008
เช็กสัญญาณ! ตอนนี้คุณกำลังเข้าข่าย Helicopter Parent หรือไม่?
ช่วยเหลือลูกทุกอย่างจนแทบไม่เคยทำอะไรด้วยตัวเอง
พ่อแม่ที่เป็น Helicopter Parent มักจะทำทุกอย่างหรือให้การสนับสนุนลูกโดยแทบจะไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองทำอะไรด้วยตนเอง แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การทำการบ้าน การเก็บกวาดหลังทานอาหาร งานบ้านง่าย ๆ หรือแม้แต่เวลาที่ลูกทะเลาะกับเพื่อน พ่อแม่ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการรีบโทรเรียกผู้ปกครองของอีกฝ่ายให้มาเคลียร์ปัญหากัน โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองสงบสติอารมณ์ และแก้ปัญหากับเพื่อนด้วยตัวเอง
ไม่ให้ลูกได้ตัดสินใจหรือฝึกคิดด้วยตัวเอง
นอกจากการลงมือช่วยเหลือลูกแล้ว Helicopter Parent ยังได้ใช้สมองแทนลูกในการคิดและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เช่น การเลือกกิจกรรมให้ลูกโดยไม่สอบถามความชอบ การวางแผนการศึกษาให้ลูกตามความสนใจของตนเอง หรือบางครั้งอาจถึงขั้นช่วยลูกตัดสินใจเลือกงานที่ทำ จนทำให้ลูกขาดทักษะในการคิดและตัดสินใจ
ตามติดลูกทุกฝีก้าว ไม่เว้นระยะห่าง
การตามติดชีวิตแบบไม่คลาดสายตาของพ่อแม่ Helicopter Parent ด้วยความกังวล ไม่ว่าลูกจะไปที่ไหน ทั้งโรงเรียน บ้านเพื่อน ทัศนศึกษา หรือขอเข้าห้องสัมภาษณ์งานด้วยหากเป็นไปได้ จนทำให้ลูกไม่มีพื้นที่ส่วนตัวและเวลาเรียนรู้ด้วยตนเอง
ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ กลัวการที่ลูกจะเจ็บตัวหรือผิดพลาด
การไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ เนื่องจากความกลัวว่าลูกจะเจ็บตัวหรือผิดพลาด เป็นลักษณะหนึ่งของพ่อแม่ Helicopter Parent เมื่อเห็นลูกพยายามปีนต้นไม้หรือเล่นของเล่นที่ดูเสี่ยงอันตราย พ่อแม่ก็จะรีบเข้ามาห้ามทันที ด้วยความกลัวว่าลูกจะได้รับบาดเจ็บ หรือการกำหนดเส้นทางต่าง ๆ เพราะเชื่อว่ามอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก
Helicopter Parent ทำร้ายลูกอย่างไร
ลูกไม่โตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวสักที
พฤติกรรม Helicopter Parent ที่คอยปกป้องและควบคุมชีวิตลูกในทุกด้าน ส่งผลให้ลูกไม่สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและมั่นใจในตัวเองได้ เนื่องจากพึ่งพาพ่อแม่มากเกินไป จนไม่กล้าเผชิญหน้ากับการใช้ชีวิตในโลกกว้าง
- ไม่สามารถตัดสินใจเองได้
พ่อแม่ที่มีพฤติกรรม Helicopter Parent มีบทบาทในการตัดสินใจแทนลูกในทุกเรื่อง จึงทำให้ลูกขาดทักษะในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต เนื่องจากลูกไม่รู้จักวิธีการพิจารณาทางเลือกที่มีอยู่
ขาดทักษะการใช้ชีวิต
การที่พ่อแม่แบบ Helicopter Parent ไม่ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมตามวัย ทำให้ลูกไม่มีทักษะในการในการใช้ชีวิตพื้นฐาน เช่น การทำงานบ้าน การจัดการเงิน หรือการบริหารเวลา ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตของลูกในระยะยาว
- ไม่สามารถรับมือกับความผิดหวังได้
เมื่อลูกไม่มีโอกาสได้เผชิญกับความล้มเหลวจากการดูแลแบบ Helicopter Parent ลูก ๆ มักจะไม่มีความสามารถในการจัดการอารมณ์และความรู้สึกเมื่อเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก จึงทำให้รู้สึกตกใจและหมดกำลังใจได้ง่าย
ขาดความมั่นใจ กลัวการผิดพลาด
เด็กที่ถูกเลี้ยงดูในรูปแบบ Helicopter Parent มักขาดความมั่นใจในตัวเอง หากไม่มีพ่อแม่คอยให้คำแนะนำ และยังไม่กล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากกลัวความผิดพลาด
รู้สึกอยู่เหนือคนอื่น
เด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่มี Helicopter Parent อาจะรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญมากกว่าผู้อื่นได้ เนื่องจากโดยปกติได้รับความรักและการเอาใจใส่จากพ่อแม่ที่มากเกินไป จนอาจทำให้ลูกอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ยาก
- ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดภาวะบกพร่องทางอารมณ์ หรือภาวะซึมเศร้า
พฤติกรรมของ Helicopter Parent อาจส่งผลให้ลูกเกิดภาวะบกพร่องทางอารมณ์หรือซึมเศร้าในระยะยาว เนื่องจากขาดทักษะในการจัดการความรู้สึกอย่างเหมาะสม รวมถึงความผิดหวังอาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจได้เช่นกัน
อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องสู่ลูกของลูก จากการกลายเป็น Helicopter Grandparent
หากพ่อแม่ยังคงมีพฤติกรรม Helicopter Parent ต่อไป เมื่อมีลูกหลาน พวกเขาอาจกลายเป็น Helicopter Grandparent ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ ไป
อะไรทำให้พ่อแม่กลายเป็น Helicopter Parent
ความกลัวต่อผลลัพธ์ที่เลวร้าย
พ่อแม่ที่เป็น Helicopter Parent มักจะกลัวว่าลูกจะต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่น่าเสียใจหากพวกเขาไม่ได้เข้าช่วยเหลือ จนอาจมองข้ามไปว่าความล้มเหลวคือบทเรียนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกเจริญเติบโต
ความรู้สึกวิตกกังวล
ความวิตกกังวลเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อแม่กลายเป็น Helicopter Parent เนื่องจากพวกเขากลัวว่าลูกจะเป็นอันตรายหรือประสบกับความยากลำบาก จึงคอยดูและและปกป้องลูกในทุกด้านอย่างใกล้ชิด ซึ่งความรู้สึกวิตกกังวลล้วนมาจากความรักและความห่วงใย แต่การควบคุมชีวิตลูกมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อลูกได้เช่นกัน
ปมด้อยในวัยเด็ก
บางครั้งพฤติกรรมของพ่อแม่ Helicopter Parent อาจเกิดจากปมด้อยในวัยเด็ก เช่น การไม่ได้รับความรักหรือถูกละเลย จึงพยายามชดเชยให้ลูกด้วยการดูแลและช่วยเหลือที่มากเกินไป
ความกดดันจากพ่อแม่คนอื่น
ท่ามกลางสังคมที่มีการแข่งขันสูง การเปรียบเทียบลูก ๆ ของเหล่าคุณพ่อคุณแม่อาจทำให้รู้สึกกดดันในการเลี้ยงดูลูกให้ประสบความสำเร็จ จนกลายเป็น Helicopter Parent ที่พยายามควบคุมและผลักดันลูกอย่างหนักให้โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับ
แม้ว่า Helicopter Parent จะเกิดจากความรักและความหวังดี แต่การให้ความช่วยเหลือและควบคุมลูกมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองผิดลองถูก พร้อมกับสนับสนุนเจ้าตัวเล็กอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจพร้อมเผชิญหน้ากับโลกกว้าง