ทำความรู้จัก ‘ท้องหลอก’ และ ‘ท้องลม’ จากความหวังของการมีลูกสู่ภาพลวงตา
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตั้งตารอการตั้งครรภ์ สิ่งที่มักจะตามมาก็คือความตื่นเต้นและคาดหวังอย่างซ่อนไว้ไม่ได้ การที่คุณแม่เริ่มมีอาการคล้ายกับการตั้งครรภ์มักทำให้คุณแม่รับเข้ารับการตรวจทันทีเพื่อตรวจสอบความจริง แต่บ่อยครั้งที่ผลตรวจกลับไม่เป็นดังปรารถนา ซึ่งนำไปสู่ความสับสนและกังวลใจ จนอาจทำให้เกิดภาวะ ‘ท้องหลอก’ หรือ ‘ท้องลม’ ที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะสับสนและคิดว่าอาการทั้งสองนั้นคือสิ่งเดียวกัน วันนี้เราจึงจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักกันว่า ‘ท้องหลอก’ และ ‘ท้องลม’ คืออะไร เพื่อให้เข้าใจและสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม
ท้องหลอก VS ท้องลม ไม่ใช่อาการเดียวกันจริงหรือ?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าว่า ท้องหลอก และท้องลมคืออะไร แม้ว่าอาการของทั้งสองภาวะจะมีความคล้ายคลึงกันแต่รู้หรือไม่ว่าสาเหตุสำคัญของอาการท้องหลอกและท้องลมนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความเข้าใจผิดได้
อาการท้องหลอก (Pseudocyesis)
อาการท้องหลอก หรือ Pseudocyesis คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการทางกายและจิตใจที่คล้ายคลึงกับการตั้งครรภ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยแพทย์คาดว่าอาการท้องหลอกเกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยาและฮอร์โมนของคุณแม่ที่เกิดความเครียด และการคาดหวังอย่างสูงที่จะมีลูก ทำให้ร่างกายตอบสนองผ่านอาการที่คล้ายกับคนท้อง
อาการท้องลม (Blighted Ovum)
ในทางตรงกันข้าม อาการท้องลม หรือ Blighted Ovum คือภาวะที่ไข่และอสุจิมีการปฏิสนธิกันแล้ว แต่เกิดความผิดปกติจึงทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกได้ จึงสลายไปเหลือเพียงถุงตั้งครรภ์ และเมื่อร่างกายตรวจพบความผิดปกตินี้ ร่างกายจึงทำเริ่มขับเนื้อเยื่อและเลือดออกจากมดลูก ทำให้เกิดเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคุณแม่ได้ผลเป็นบวกเมื่อตรวจด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะ แต่เมื่อไปอัลตราซาวนด์กลับไม่พบทารกในครรภ์
อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยภาวะท้องหลอกและท้องลม ได้แก่
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คัดตึงเต้านม
- ท้องโตขึ้น
- รู้สึกเหมือนมีลูกดิ้นในท้อง
วิธีการรักษาท้องหลอกและท้องลม
การรักษาภาวะท้องหลอก
ขั้นตอนแรกในการรักษาภาวะท้องหลอก คือการทำให้คุณแม่ยอมรับและเชื่อว่าตอนเองไม่ได้ตั้งครรภ์จริง โดยการใช้หลักฐานจากการตรวจทางการแพทย์ เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด การตรวจอุ้งเชิงกราน และการอัลตราซาวนด์ เพื่อยืนยัน จากนั้นทำการรักษาสภาพจิตใจด้วยกิจกรรมบำบัด การปรับพฤติกรรม หรือการรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของคุณแม่ให้กลับสู่สภาวะปกติ นอกจากนี้ อาจมีการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัดควบคู่เพื่อบรรเทาอาการคล้ายการตั้งครรภ์
การรักษาภาวะท้องลม
การรักษาภาวะท้องลมสามารถทำได้ด้วยการขูดมดลูกเพื่อนำเยื่อบุหรือชิ้นเนื้อภายในโพรงมดลูกออกมา เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ในบางกรณีที่ถุงตั้งครรภ์สามารถหลุดออกมาได้เองทั้งหมด และไม่มีอาการแทรกซ้อน จึงไม่จำเป็นต้องทำการขูดมดลูก อย่างไรก็ตาม อาการท้องลมยังสามารถเกิดซ้ำได้ โดยเฉพาะกับคุณแม่ที่อายุมาก ดังนั้น การตรวจสุขภาพเป็นประจำ การทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันคุณแม่จากอาการท้องลมได้
จะเห็นได้ว่าแนวทางการรักษาอาการท้องหลอกและท้องลมนั้นแตกต่างกันออกไป เนื่องจากสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ทุกคนที่ตั้งตารอเจ้าตัวน้อยนั่นก็คือ การดูแลสุขภาพกายและใจให้พร้อมต้อนรับสมาชิกใหม่สู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย