5 วิธีฝึกลูกเดินเองอย่างปลอดภัย ไม่ต้องอาศัยรถหัดเดิน
รถหัดเดิน อุปกรณ์เสริมสำหรับเด็กที่พ่อแม่สมัยก่อนนิยมเลือกใช้เพื่อฝึกลูกเดิน เพราะคิดว่าจะช่วยเสริมพัฒนาการทางร่างกายและฝึกเดินได้ไวขึ้น แต่ในปัจจุบันการใช้รถหัดเดินอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับลูกน้อยได้ง่ายกว่าเดิมมาก และดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้ลูกเดินเองได้ไวขึ้นอีกด้วย ฉะนั้น เรามีวิธีฝึกลูกเดินอย่างถูกต้องและปลอดภัยมาบอกกัน แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากใช้รถหัดเดินควรรู้ให้ทันถึงความอันตรายก่อนตัดสินใจซื้อนะคะ
รถหัดเดิน อันตรายอย่างไร ?
1. รถหัดเดินทำให้เด็กลงน้ำหนักเท้าผิดวิธี เนื่องจากท่ายืนและท่าเดินขณะอยู่ในรถหัดเดินไม่ใช่ท่าเดินตามธรรมชาติ เด็กบางคนใช้เพียงปลายเท้าแตะพื้นก็ทำให้รถหัดเดินเคลื่อนที่ได้แล้ว ส่งผลให้เด็กหัดเดินแบบเขย่งเท้าซึ่งเป็นการเดินที่ไม่ถูกต้อง เท้าเด็กจะลอยเหนือพื้นไม่ได้สัมผัสพื้นแบบเต็มเท้า
2. รถหัดเดินช่วยพยุงน้ำหนักทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขาขาดการกระตุ้นเพื่อให้พัฒนาการไปตามวัย ทำให้ทั้งขาและเท้าไม่แข็งแรง ส่งผลให้เด็กที่ใช้รถหัดเดินจะเดินเองได้ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้
3. รถหัดเดินเคลื่อนที่ได้ไวมาก บางครั้งพ่อแม่ก็จับไม่ทันอาจนำมาซึ่งโอกาสการเกิดอุบัติเหตุได้ตามข่าวที่เราพบเห็น เช่น หกล้ม จมน้ำ ชนกับสิ่งของต่าง ๆ หรือกาน้ำร้อน รวมไปถึงการถูกรถชน นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากสิ่งแวดล้อมที่เราคาดไม่ถึงอีกด้วย
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประกาศว่าห้ามใช้ชื่อเรียกสิ่งนี้ว่า รถหัดเดิน ให้เรียกว่า รถพยุงตัว และต้องติดฉลากว่า “ผลิตภัณฑ์นี้ไม่ได้ช่วยในการหัดเดิน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต”
5 วิธีฝึกลูกเดินเองให้ปลอดภัย
1. ใช้อุปกรณ์หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวช่วยกระตุ้น – ช่วงที่ลูกอายุประมาณ 7-12 เดือน เป็นวัยที่เริ่มยืนเกาะได้ สามารถใช้คอกกั้นฝึกลูกเดินได้โดยให้เกาะตามขอบนิ่ม ๆ ให้ลูกเดินอย่างอิสระ ถ้าล้มก็ล้มแบบไม่เจ็บ หรือใช้สภาพแวดล้อมที่บ้านให้เป็นประโยชน์ เช่น โต๊ะ ขอบเตียง แต่ต้องดูที่มีความปลอดภัย โค้ง มน ไม่เป็นมุมแหลมทำให้บาดเจ็บ และสิ่งของที่ไม่มั่นคงจับแล้วล้มหรือเปิดออกได้
2. รถขาไถ – ลูกเริ่มโตเข้าวัย 13 เดือน เป็นช่วงเริ่มหัดตั้งไข่ สามารถเกาะเดินได้ ให้ใช้รถขาไถช่วยฝึกเดิน ทำให้ลูกได้เกร็งตัว ใช้ขาก้าวเดิน โดยใช้รถขาไถเกาะเดินไปข้างหน้า
3. เชือกหรือสายหัดเดิน – อุปกรณ์เสริมช่วยลูกเดินโดยสอดเชือกเข้าที่รักแร้ของลูก เพื่อช่วยพยุงลูกให้เดินอย่างมั่นใจและปลอดภัย แถมพ่อแม่ก็ไม่เหนื่อยมากอีกด้วย
4. จับมือลูกแล้วเดินไปด้วยกัน – โดยให้พ่อแม่เดินอยู่ด้านหลังแล้วคอยจับทั้งสองมือลูกเอาไว้ ฝึกไปเรื่อย ๆ พอลูกเริ่มเดินคล่องเมื่อไหร่ให้ลองใช้มือเดียวจับ ข้อสำคัญคือต้องฝึกทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
5. พูดเชียร์ ให้กำลังใจลูก – ปรบมือ ส่งเสียงเชียร์เมื่อลูกเดินในแต่ละก้าว เมื่อพ่อแม่พูดให้กำลังใจจะช่วยเสริมให้ลูกมั่นใจที่จะเดิน ทีนี้ลูกเดินรัว ๆ เลยล่ะค่ะ
ข้อสำคัญในการฝึกลูกเดินคือ พัฒนาการของเด็กแต่ละคนต่างกัน พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งจนเกินไป โดยส่วนใหญ่เด็กจะเดินได้ตอนอายุ 1 ขวบ 5 เดือน เราไม่จำเป็นต้องเร่งให้ลูกเดินได้ก่อน 1 ขวบ หากไปเร่งอาจทำให้เกิดอันตรายจนกลายเป็นแผลในใจลูกได้ ฉะนั้นควรปล่อยไปตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น ถ้าเขาอยากเดินเขาจะเดินเอง
แม้ว่ารถหัดเดินจะส่งผลอันตรายแต่ถ้าพ่อแม่มีความจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ในกรณีที่ต้องทำงานอย่างอื่นไปด้วยเลยไม่สะดวกอุ้มหรือฉุกเฉินต้องดูลูกเพียงลำพังก็ให้เลือกสถานที่ที่ปลอดภัย สภาพแวดล้อมรอบข้างไม่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และเลือกรถหัดเดินที่สามารถล็อกล้อได้ ผู้ดูแลควรอยู่ใกล้ ๆ เสมอ