Search
Close this search box.
อาการโคลิก Colic

พ่อแม่ต้องรู้ วิธีดูแลอาการโคลิก (Colic) ที่มักพบในเด็กแรกเกิด

เสียงร้องงอแงเป็นสิ่งแรกที่ลูกสามารถโต้ตอบกับพ่อแม่ได้ แต่ถ้าร้องมากเกินไปจนผิดสังเกต นั่นอาจแสดงถึงอาการโคลิกได้ พ่อแม่จึงควรมาทำความรู้จักอาการโคลิกว่าคืออะไร และร้องแบบไหนที่เรียกว่าโคลิก พร้อมวิธีดูแลลูกเมื่อมีอาการโคลิก เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก

อาการโคลิก คืออะไร?

อาการโคลิก (Colic) เป็นอาการที่มักพบได้ในเด็กแรกเกิด ตั้งแต่ 3 สัปดาห์ จนถึง 3 เดือน โดยมีอาการที่ร้องไห้หนักมาก ร้องไห้เป็นเวลานานแบบไม่ทราบสาเหตุ และชอบร้องในช่วงกลางคืนเป็นพิเศษ ทำให้พ่อแม่กังวลว่าลูกจะป่วยเป็นอะไรร้ายแรงหรือเปล่า ซึ่งอาการโคลิกของเด็ก ถือเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทารกทุกคน อาการจะดีขึ้นเมื่ออายุเข้าช่วงประมาณ 3-4 เดือนค่ะ

สาเหตุของอาการโคลิก

ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเขนว่าอาการโคลิกของเด็กนั้นเกิดจากอะไร อาจมาจากหลาย ๆ สาเหตุรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • พื้นฐานอารมณ์ของเด็ก หากคุณแม่มีความเครียดขณะตั้งครรภ์ก็ส่งผลให้ลูกมีอาการโคลิกได้
  • การพัฒนาของระบบประสาทที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่
  • ฮอร์โมนในร่างกายปรับเปลี่ยน จึงทำให้มีอาการปวดท้อง
  • ระบบทางเดินอาหาร
  • มีลม หรือแก๊สในท้องมาก
  • ป้อนนมผิดวิธี หรือป้อนมาก-น้อยเกินไป
  • อยู่ในท่านอนที่ไม่เหมาะสม
  • เด็กไม่เรอจึงมึอากาศในท้อง ทำให้เกิดอาการแน่น อึดอัดท้อง
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น กรดไหลย้อน, แพ้นมวัว หรือ Lactose ในนม, หูอักเสบ, โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ไส้เลื่อน และผื่นผ้าอ้อม เป็นต้น

ลักษณะร้องของอาการโคลิก เป็นแบบไหน?

คุณแม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าลูกมีอาการโคลิกเมื่อลูกแสดงอาการร้องไห้อย่างหนัก หน้าแดง กำมือแน่น งอตัว ชูขาขึ้นมาถึงหน้าอก และร้องนานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และต่อเนื่องนานกว่า 3 สัปดาห์ โดยจะร้องในช่วงเวลาเดิมทุกครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเย็น หรือกลางคืน

อาการโคลิกแบบไหน ควรไปพบแพทย์?

แม้ว่าอาการโคลิกของลูกจะเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าคุณแม่เกิดความกังวล หรือสังเกตได้ถึงความผิดปกติเหล่านี้ การไปปรึกษาแพทย์อาจเป็นวิธีป้องกันที่ทำให้สบายใจได้มากกว่า

  • ร้องเสียงแหลม หรือกระสับกระส่าย
  • อุ้มแล้วรูสึกว่าลูกตัวอ่อนปวกเปียก
  • ตัวเขียว หรือผิวซีด
  • อาเจียนเป็นของเหลวสีเขียว
  • ถ่ายเป็นเลือด
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส สำหรับทารกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน
  • มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส สำหรับทารกที่อายุ 3-6 เดือน
  • ไม่ยอมกินนม
  • มีอาการชัก
  • หายใจผิดปกติ
อาการโคลิก Colic

วิธีดูแล เมือลูกมีอาการโคลิก

เนื่องจากอาการโคลิก สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงยังไม่มีวิธีรักษาแบบเฉพาะเจาะจง และอาการโคลิกมักจะดีขึ้นได้เองเมื่อลูกเข้าช่วงอายุประมาณ 3-4 เดือน

ซึ่งยาบางชนิดอาจช่วยบรรเทาอาการโคลิกให้ดีขึ้นได้ เช่น Simethicone (ไซเมทิโคน) หยดลงในขวดนม หรือป้ายที่นมแม่ก่อนที่จะให้นม จะสามารถช่วยลดแก๊ส หรือกรดเกินในกระเพาะอาหารของลูกได้
*ทั้งนี้การใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัย ทั้งในเรื่องปริมาณ ขนาด และระยะเวลาการใช้ยา

หากมั่นใจแล้วว่าลูกมีอาการโคลิก คุณแม่ก็สบายใจได้ว่าอาการนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อลูก แต่เป็นเราเองที่ต้องลดความกังวลลง และควรรู้วิธีดูแลที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามวิธีดูแลต่อไปนี้อาจเหมาะกับเด็กแต่ละคนต่างกัน คุณแม่ต้องลองและสังเกตไปด้วยว่าทำแบบไหนแล้วลูกดีขึ้น

1. ป้องกันอาการโคลิกด้วยการอุ้มลูกเรอ

อุ้มลูกให้เรอทุกครั้งหลังกินนม เพื่อขับลมออกจากกระเพาะ ทำให้ท้องไม่อืด ซึ่งลมที่ติดอยู่ในท้องก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการโคลิก ส่วนท่าอุ้มลูกเรอ สามารถทำได้ทั้งท่านั่งบนตัก, อุ้มพาดบ่า และใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นแล้ววางที่ท้องลูก

2. เช็กปัจจัยอื่นที่ทำให้มีอาการโคลิก เช่น

  • ตรวจสอบความชื้นของผ้าอ้อมว่าเปียก หรือชื้นมากเกินไป จนทำให้ลูกไม่สบายตัวหรือเปล่า
  • ปรับอุณหภูมิภายในห้อง ต้องไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป
  • บางครั้งที่ลูกร้องอาจไม่ได้หิวนมเสมอไป ลองหาของเล่นที่เอาเข้าปากได้ หรือพวกจุกหลอกให้ลูกกัด

3. เลือกขวดนมป้องกันโคลิก เป็นตัวช่วย

ขวดนมหลายยี่ห้อในปัจจุบันนี้มีการออกแบบมาเพื่อลดอาการโคลิกโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น จุกนมระบายอากาศ ช่วยให้ลูกกลืนอากาศเข้าไปน้อยที่สุด ไล่อากาศออกให้เหลือแต่น้ำนม คุณแม่สามารถป้อนนมในแนวนอนได้อย่างเป็นธรรมชาติ และสะดวกสบายมากขึ้น

ทั้งนี้การดูแลและรับมืออาการโคลิกของลูก อาจไม่ราบรื่นอย่างที่คุณแม่คิด แต่มันไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นกังวล หรือโทษตัวเองนะคะ อาการนี้เป็นเรื่องปกติของเด็ก เราแค่ต้องทำความเข้าใจ และดูแลลูกอย่างเหมาะสมเท่านั้นเอง นอกจากนี้อาจต้องระวังเพิ่มในเรื่องลูกแหวะนม คลิกอ่านเพิ่มเติม 5 วิธีป้องกัน อาการลูกแหวะนมที่พ่อแม่ต้องเจอในเด็กแรกเกิด

SHARE

RELATED POSTS

ชวนพ่อแม่ดูแลโภชนาการเด็กให้ดีสมวัย เลี่ยงภัยอ้วน-เบาหวาน | Advertorial…