Search
Close this search box.
ความเครียดของเด็กวัยประถม

รับมือกับความเครียดของเด็กวัยประถม

เริ่มต้นที่พฤติกรรมพ่อแม่

ความเครียดที่เกิดกับเด็กวัยประถม มีสาเหตุจากหลายปัจจัย โดยเรื่องส่วนใหญ่ที่ทำให้เด็กเครียดมักหนีไม่พ้นเรื่องที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลย เมื่อหนูน้อยไม่สามารถปรับตัวหรือรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น มาดูกันว่าปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้ลูกวัยนี้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ

ความเครียดของเด็กวัยประถม

ไม่ได้รับความรัก

เมื่อหนูน้อยขาดการเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่จะทำให้เป็นคนที่ขาดความอบอุ่น ทำให้เกิดนิสัยชอบเอาแต่ใจ ชอบเรียกร้องความสนใจ ชอบเปรียบเทียบ และอาจรู้สึกอิจฉาคนอื่นที่ได้รับความรักอย่างเต็มที่

ไม่ได้รับความปลอดภัย

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับหนูน้อย เช่น คุณพ่อคุณแม่ย้ายบ้านย้ายโรงเรียนให้ลูกอย่างกะทันหัน คุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน อาจทำให้ลูกรู้สึกขาดความมั่นใจ และหากปรับตัวไม่ทัน เด็กจะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย และรู้สึกว่าใครๆ ก็ไว้ใจไม่ได้

ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

เมื่อเด็กรู้สึกว่าตัวเองถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ไม่ได้รับคำชมเชยเลย จะทำให้เขารู้สึกเหงาเบื่อหน่ายกับชีวิต รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า โดยส่วนใหญ่มักหันไปแก้ปัญหาด้วยการใช้เวลาทั้งหมดไปกับเกม เพราะทำให้รู้สึกสนุกและมีตัวตนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน

ไม่ได้รับอิสรภาพ

เมื่อถูกบังคับ ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น ถูกพ่อแม่กดดันให้เรียนพิเศษมากเกินไป เด็กวัยนี้จะรู้สึกไม่มีกำลังใจ สิ่งที่ควรระวังคือลูกหลายคนไม่กล้าพูดกับพ่อแม่ตรงๆ พ่อแม่จึงควรสังเกตพฤติกรรมลูกผ่านการแสดงออกในสถานการณ์ต่างๆ แทน

เช็กลิสต์อาการที่บอกว่าลูกกำลังมีความเครียด

ความเครียดของเด็กวัยประถม

อาการที่บอกว่าลูกเครียดโดยส่วนมากมักมีหลายอาการประกอบกัน จะไม่ปรากฏอาการใดอาการหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งพฤติกรรมชวนสงสัยมีดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักลดต่ำกว่าเกณฑ์และไม่อยากอาหาร
  • ร้องไห้ กรีดร้อง ก้าวร้าว และเกเรมากกว่าที่เคยเป็น
  • มีพฤติกรรมเฉื่อย เรียนรู้ได้ช้าลง ตลอดจนพูดติดอ่าง หรือพูดให้จบประโยคได้ยาก
  • ขาดความมั่นใจในตนเอง มีความวิตกกังวล และมีความกลัว
  • แยกตัวจากเพื่อน เล่นสนุกน้อยลง ชอบเก็บตัว
  • ขี้หงุดหงิด งอแง กลัวการแยกจากคนที่รักหรือสิ่งของส่วนตัว
  • ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท เด็กบางคนก็มักฝันร้ายเป็นประจำ 

นอกจากนี้ยังรวมถึงพฤติกรรมถดถอย เช่น ปฏิเสธการช่วยเหลือตัวเอง ทั้งที่เคยอาบน้ำ แปรงฟันเองได้ด้วยตัวเอง แต่กลับเรียกร้องให้พ่อแม่ช่วย หรือกลับมามีปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่เลิกพฤติกรรมนี้ไปได้แล้ว เป็นต้น

รับมือกับความเครียดของเด็กวัยประถม

ความเครียดของเด็กวัยประถม

ห้ามกดดันลูก แต่ควรยอมรับในความสามารถของเด็ก

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่คาดหวังและเข้มงวดกับลูกเกินไป ทำให้มองข้ามว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร เช่น ให้เรียนกวดวิชาเพิ่ม ทำให้ลูกไม่ได้ใช้เวลาเล่นกับเพื่อนจนขาดทักษะการเข้าสังคม ดังนั้นเวลาเจอปัญหาควรให้เวลากับลูกในการเรียนรู้ และปรับตัวรับมือกับสังคมด้วยตัวเองบ้าง และไม่ควรบังคับให้ทำในสิ่งที่ยังไม่พร้อม ที่สำคัญควรสนับสนุนสิ่งที่ลูกชอบหากสามารถทำได้

ห้ามใช้คำพูดหยาบคาย แต่ควรพูดอย่างสร้างสรรค์

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพูดคำหยาบคายเด็ดขาด หรือเรียกลูกด้วยคำพูดที่เขาไม่ชอบ เช่น อ้วน ดำ เพราะเด็กวัยนี้จะมีอารมณ์อ่อนไหวกับรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ชอบให้ใครมาเรียก หรือแสดงออกว่าเขาแตกต่าง ผู้ปกครองจึงควรพูดจาดีกับลูกด้วยถ้อยคำสุภาพ เพื่อปลูกฝังนิสัยที่เป็นมิตร และสร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน รวมถึงช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวอบอุ่นมากขึ้น

ห้ามใช้ความรุนแรง แต่ควรรับฟังความคิดเห็น

วิธีการสอนลูกด้วยการทำโทษที่รุนแรง หรือทำให้ลูกรู้สึกกลัว จะทำให้เด็กจำฝังใจและอาจมีผลร้ายในระยะยาว ทางที่ดีควรถามถึงเหตุผลที่ลูกทำสิ่งต่างๆ และสร้างกฎกติกาในบ้านขึ้นเพื่อให้ลูกรู้จักรับผิดชอบการกระทำของตนเอง นอกจากนี้อาจนำวิธีการลงโทษแบบไม่ใช้ความรุนแรง อย่างการให้ลูกทำ time in – time out เข้ามาปรับใช้

ความเครียดของเด็กวัยประถม

ห้ามทะเลาะกันต่อหน้าลูก แต่ควรหากิจกรรมทำร่วมกัน

การทะเลาะกันต่อหน้าลูก อาจทำให้ลูกจดจำว่าคุณเป็นบุคคลอันตราย และรู้สึกว่าเขาเป็นตัวปัญหาทำให้พ่อแม่ทะเลาะกัน ทางที่ดีจึงไม่ควรใช้พฤติกรรมรุนแรงต่อหน้าเด็ก แต่หันมาหากิจกรรมสนุกๆ ทำร่วมกัน เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตของลูก และทำให้ทุกๆ วันเป็นวันที่ทุกคนในบ้านได้สร้างความสุขร่วมกัน

แม้ความเครียดจะเป็นเรื่องที่เกิดได้ง่าย แต่พ่อแม่ก็สามารถรู้ทันและช่วยกันแก้ไขได้ไม่ยาก เพียงหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก และรีบแก้ไขปัญหา หากถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาโดยเร็ว เพราะ ลูก เป็นผลผลิตที่พ่อแม่อย่างเราภูมิใจ

SHARE

RELATED POSTS

‘ฟันน้ำนม’ สำคัญกว่าที่คิด ชวนพ่อแม่มาดูแลฟันลูกน้อยตั้งแต่ซี่แรก หนึ่งในพัฒนาการสำคัญของลูกน้อยวัยทารกนั่นก็คือ…