Search
Close this search box.
ท้องแข็ง

คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้ 5 ข้อห้ามทำ

เมื่อมีอาการท้องแข็ง

หากคุณแม่ไม่ได้กำลังดูรายการคอมเมดี้อยู่แล้วมีอาการท้องแข็งก็คงไม่ได้เกิดจากการหัวเราะอย่างแน่นอนค่ะ แต่อาการท้องแข็งที่คุณแม่หลายคนกำลังเจออยู่นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมาก ๆ วันนี้ทาง Cotton Baby เลยได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พร้อม Do & Don’t ของอาการท้องแข็งว่าควรทำและห้ามทำอะไรมาฝากกันค่ะ

‘ท้องแข็ง’ เกิดจากอะไรได้บ้าง ?

อาการท้องแข็ง คือ อาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความรู้สึกว่ามีก้อน ตึง ๆ ที่ท้อง จะแข็งมาก-น้อย แตกต่างกันออกไป (แล้วแต่คน) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งจะพบได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือช่วงใกล้คลอดนั่นเอง อาจมีอาการท้องแข็งได้วันละ 3 – 4 ครั้ง แต่จะไม่สม่ำเสมอนะคะ เป็นเพราะอะไรนั้นเรามีคำตอบมาให้แล้วค่ะ

ท้องแข็ง

สาเหตุที่คุณแม่มีอาการท้องแข็ง

1. ท้องแข็งจากการบีบตัวของมดลูก

ลักษณะอาการท้องแข็งแบบนี้ ท้องของคุณแม่จะต้องแข็งโป๊กทั้งหมด จะไม่แข็งเป็นบางบริเวณ มีอาการปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือนร่วมด้วย และอาการท้องแข็งจากสาเหตุของมดลูกบีบตัวก็สามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ

  • ท้องแข็งของแท้ (มดลูกบีบตัวก่อนกำหนด) มักพบในช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ถือเป็นช่วงที่ลูกจะดิ้นมากที่สุด ทำให้มีส่วนไปกระตุ้นมดลูกให้เกิดการบีบตัวบ่อยขึ้นได้ หากผ่านช่วงอายุครรภ์ 32 – 34 สัปดาห์ไปได้ อาการท้องแข็งก็จะลดลง แต่ถ้าคุณแม่คนไหนท้องแข็งบ่อยมาก ไม่มีวี่แววดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอนะคะ หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการดูแลรักษา มดลูกอาจจะบีบตัวจนทำให้ปากมดลูกเปิด ส่งผลให้มีอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดตามมาได้ค่ะ
  • ท้องแข็งธรรมชาติ (Braxton hicks contraction) เป็นอาการท้องแข็งจากการบีบตัวของมดลูก มีลักษณะการแข็งตัวแบบนิด ๆ หน่อย ๆ ถ้าเป็นแบบนี้คือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นภาวะปกติ ซึ่งมดลูกคนเราก็ไม่ได้นิ่มตลอดทั้งวัน อาจมีบีบตัวได้เล็กน้อยระหว่างวันค่ะ

2. ท้องแข็งเพราะลูกดิ้น

ลักษณะท้องแข็งที่แข็งเป็นบางบริเวณ มีความนิ่มปะปนอยู่ด้วย ท้องแข็งแบบนี้เกิดจากลูกในท้องดิ้นหรือโก่งตัวค่ะ เพราะตัวเด็กเขาไม่ได้กลมเป็นลูกบอล แต่มีอวัยวะ ไหล่ ศอก เข่า ที่สามารถนูนไปได้ทั่ว หากท้องแข็งแบบนี้ก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยไว้ได้เลย ไม่มีอันตรายค่ะ

3. กินอิ่มเกินไปทำให้ท้องแข็ง

เมื่อไหร่ที่กินอาหารเข้าไปมาก ๆ อาจเกิดอาการท้องแข็ง แน่นจนหายใจไม่ออก ต้องนั่งพักยืดตัวให้อาการดีขึ้น เนื่องจากความจุช่องท้องของคุณแม่มีพื้นที่จำกัด เวลาตั้งครรภ์ มดลูกก็โตตามไปด้วย ทำให้ไปแย่งพื้นที่อวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้อง ส่งผลให้ตอนที่คุณแม่กินอาหารเข้าไปมาก ๆ ก็ยิ่งทำให้แน่นจนเกิดอาการท้องแข็งนั่นเองค่ะ

4. ท้องแข็งจากปัจจัยอื่น ๆ

ความจริงแล้วสาเหตุของอาการท้องแข็งนั้นมีหลากหลายมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเครียดขณะตั้งครรภ์, พักผ่อนไม่เพียงพอ, ทำงานหนัก, มีเพศสัมพันธ์รุนแรง, กลั้นปัสสาวะบ่อย, คุณแม่มีสุขภาพไม่แข็งแรง อาจมีเหตุมาจากมดลูกมีโครงสร้างผิดปกติ มีเนื้องอก หรือเกิดจากครรภ์แฝด เด็กตัวใหญ่ มีน้ำคร่ำมาก ก็เป็นสาเหตุของอาการท้องแข็งได้เช่นกัน

Do & Don’t เมื่อคุณแม่มีอาการท้องแข็ง นี่คือสิ่งที่ควร / ไม่ควรทำ

ดูแต่ตา มืออย่าต้อง เดี๋ยวท้องแข็ง

1. ดูแต่ตา มืออย่าต้อง เดี๋ยวท้องแข็ง

คุณแม่ที่มีอาการท้องแข็ง มักจะชอบเอามือไปจับ ลูบ ๆ คลำ ๆ ด้วยความกังวลว่ามดลูกจะแข็งตัว ซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่งเลยนะคะ เพราะว่า มดลูกเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ ไวต่อการกระตุ้น ยิ่งจับบ่อยก็จะยิ่งแข็งมากขึ้นเท่านั้น

ขี้เกียจได้ แต่ห้ามบิดขี้เกียจ เดี๋ยวท้องแข็ง

2. ขี้เกียจได้ แต่ห้ามบิดขี้เกียจ

คุณแม่ขี้เกียจได้ค่ะ ดีด้วยซ้ำจะได้ไม่ต้องออกแรงบ่อย ๆ นอนพักให้เยอะ ทำงานให้น้อย มดลูกจะได้ไม่บีบตัว แต่หลังจากที่พักแล้วมันจะเกิดเจ้าตัวขี้เกียจมาสิงร่าง ฉะนั้น ข้อห้ามเลยก็คือ การบิดขี้เกียจ ที่จะทำให้ช่องท้องมีปริมาตรเล็กลง ความดันในมดลูกสูงขึ้น ส่งผลให้ท้องแข็งนั่นเองค่ะ

เข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ช่วยบรรเทาท้องแข็ง

3. เข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ช่วยบรรเทาท้องแข็ง

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ กระเพาะปัสสาวะกับมดลูกก็เปิดศึกแย่งพื้นที่กัน ทำให้พอยิ่งท้องโต กระเพาะปัสสาวะก็จะยิ่งถูกเบียดให้เล็กลงเรื่อย ๆ จึงเกิดอาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น หากคุณแม่กลั้นปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะและมดลูกก็จะโป่งมากขึ้น ทีนี้มดลูกก็มีความดันสูงขึ้นอีก ส่งผลให้มดลูกบีบตัว จนเกิดอาการท้องแข็งขึ้นนั่นเอง รู้แบบนี้แล้ว… อย่ากลั้นปัสสาวะกันนะคะ อาการท้องแข็งจะได้บรรเทาลงด้วยค่ะ

มีเพศสัมพันธ์ทำให้ท้องแข็ง

4. มีเพศสัมพันธ์ทำให้ท้องแข็ง

สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด หรือเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด อาจต้องเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะทำให้เกิดการกระตุ้นในบริเวณปากมดลูก ส่งผลให้มดลูกบีบตัว และเกิดอาการท้องแข็งตามมาได้ อีกทั้งเวลาพิชิตจุดหมายได้ดั่งใจแล้ว มดลูกจะบีบตัวเป็นจังหวะ ทีนี้ล่ะก็…วุ่นวายให้ต้องพาไปคลอดต่อเลยนะคะ

ซึ่งทางการแพทย์พบว่า ในน้ำอสุจิจะมีสาร Prostaglandins (พรอสตาแกลนดิน) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ปากมดลูกขยายตัวระหว่างคลอด ทางที่ดีงดได้ก็งดดีกว่า ลองศึกษาเพิ่มเติมจาก รู้ 4 ทริคกระชับรัก เอาใจสามีให้อยู่หมัดช่วงตั้งครรภ์ อาจช่วยให้ทั้งคู่เจอวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าก็ได้

ป้องกันท้องแข็ง ห้ามสัมผัสพื้นที่ต้องห้าม

5. ป้องกันท้องแข็ง ห้ามสัมผัสพื้นที่ต้องห้าม

ขณะตั้งครรภ์เต้านมของคุณแม่จะขยายและเต่งตึงเป็นพิเศษ อาจมีบ้างที่คุณสามีอดใจไม่ไหวอยากขอสัมผัสบ้าง แต่ว่าเวลามีอะไรไปโดนบริเวณหัวนม มันจะส่งผลให้มดลูกบีบตัว จนเกิดอาการท้องแข็งได้ นอกจากจะหลีกเลี่ยงการสัมผัสจากว่าที่คุณพ่อแล้ว ระหว่างอาบน้ำก็ยังคงต้องระวัง อย่าฟอกสบู่ไปโดนบริเวณหัวนมเกินความจำเป็น เพราะ หากหัวนมแข็งขึ้นมามดลูกก็จะแข็งตัวตามมาได้ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ท้องที่สองขึ้นไปคงจะนึกออกว่าตอนที่ลูกดูดนมแล้วมดลูกมีการบีบตัวไปด้วยจะคล้ายกับตอนปวดประจำเดือน

คุณแม่ก็ได้ทราบกันไปแล้วนะคะว่า Do & Don’t สำหรับอาการท้องแข็งนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งหลังคลอดปัญหาที่จะทำให้คุณแม่เป็นกังวลต่อมาก็คือหน้าท้องแตกลาย เราจึงมี ทริคควรรู้ก่อนซื้อครีมทาท้องลาย เพื่อผิวสวยไม่แตกลายหลังคลอด มาบอกกันค่ะ

SHARE

RELATED POSTS

7 เคล็ด(ไม่)ลับ รับมืออารมณ์คนท้องแปรปรวน ทำตามนี้ได้ผลดีแน่นอน…
เผยวิธีห่อตัวทารกอย่างไรให้ลูกปลอดภัย สบายตัว พร้อมรับโลกใบใหม่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังข้องใจเกี่ยวกับวิธีห่อตัวทารกว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงให้ถูกต้องและปลอดภัย…
พ่อแม่ควรรู้ ปรอทวัดไข้สำหรับเด็กแบบไหนให้ผลลัพธ์แม่นยำสุด อุปกรณ์สำคัญที่พ่อแม่ควรมีติดบ้านเอาไว้อย่าง ปรอทวัดไข้…