Search
Close this search box.
การทำ Time In-Time Out

การทำ Time In-Time Out
เทคนิคปรับพฤติกรรมลูกแบบไม่ต้องใช้ไม้เรียว

ผลวิจัยออกมาชี้ว่า การตัดสินความผิดของเด็กด้วย ‘การตี’ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่น่ารักของพวกเขาได้ดีเท่าที่ควร ซ้ำร้ายยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านในเด็ก ตลอดจนเกิดการเลียนแบบการใช้ความรุนแรงจากพ่อแม่ และอาจนำไปใช้ต่อกับเพื่อนที่โรงเรียน หรือติดนิสัยไปใช้ตอนโตได้ มาเปลี่ยนวิธีลงโทษลูกให้สร้างสรรค์และปลอดภัยกว่าเดิม ด้วย ‘การทำ Time In-Time Out’ หรือเทคนิคการทำโทษพร้อมปรับพฤติกรรมลูกกันดีกว่า

‘Time In’ ทำโทษด้วยการแสดงความรัก

เลี้ยงลูก Time In-Time Out

ในความเป็นจริง Time In ไม่ใช่การทำโทษ แต่เป็นการแสดงออกถึงความรัก ความอบอุ่น และความห่วงใยต่อเจ้าตัวเล็ก โดยสามารถทำตอนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตอนลูกทำความผิดเพียงอย่างเดียว แต่หากเห็นคนอื่นทำตัวไม่น่ารัก ก็สามารถบอกให้ลูกดูเป็นตัวอย่างได้ว่า ‘ไม่ควรปฏิบัติตาม’ เพราะจะทำให้เขาดูเป็นเด็กไม่น่ารักในสายตาคนรอบข้าง หากลูกแสดงออกพฤติกรรมแย่ๆ นั้นเอง พ่อแม่ก็ควรค่อยๆ ใช้เหตุผลอธิบายกับลูกเพื่อสอนและเตือนสติเขา พร้อมบอกไปว่าพ่อแม่อาจไม่สบายใจถ้าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก 

เลี้ยงลูก Time In-Time Out

วิธีการทำโทษแบบ Time In จะช่วยให้เด็กที่ทำความผิดไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง หรืออับอายเวลาที่ถูกลงโทษหรือถูกตำหนิแรงๆ แต่ช่วยให้หนูๆ เข้าใจในความหวังดีของพ่อแม่ จุดสำคัญคือเวลาใช้เทคนิคนี้สอนลูก ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองของตัวเขาเองด้วย เพื่อสำรวจดูว่าเจ้าตัวเล็กยังคงเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้อื่นอยู่หรือเปล่า จะได้แก้ไขได้ถูกต้อง ทั้งยังช่วยให้ลูกไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกปิดกั้นทางความคิดและการแสดงออกด้วย

เคล็ดลับการทำ Time In อีกอย่างคือ ควรทำในช่วงที่ลูกอารมณ์ดี เพราะเป็นช่วงที่ลูกพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และรับฟังผู้อื่น ทั้งยังเป็นช่วงที่เขาสามารถซึมซับความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่และคนรอบข้างได้ดี การทำโทษแบบอบอุ่นเช่นนี้จึงเปรียบได้กับการใช้ไม้นวมในการปรับพฤติกรรม โดยเป็นเทคนิคที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกเป็นอันดับแรกๆ เมื่อเป็นการ warning ครั้งที่ 1 ครั้งต่อไปถ้าเจ้าตัวแสบยังไม่ยอมปรับพฤติกรรม หรือทำผิดแบบเดิมซ้ำๆ ค่อยเปลี่ยนมาใช้ไม้แข็งอย่างการทำ Time Out เป็นลำดับต่อไป

Time Out ทำโทษด้วยการให้ลูกทบทวนตัวเอง

เลี้ยงลูก Time In-Time Out

แน่นอนว่าช่วงเวลาที่ให้ลูกเข้ามุมนั้น เต็มไปด้วยความกดดันและบีบหัวใจคนเป็นพ่อแม่ จนอยากจะเข้าไปกอดปลอบลูกที่กำลังจัดการกับอารมณ์เดือดดาลของตัวเองอยู่  ขอแนะนำให้ผู้ปกครองใจแข็งเข้าไว้จนกว่าจะครบเวลาการทำ Time Out เพื่อให้ลูกได้คิดทบทวนตัวเอง แล้วเขาจะรู้สึกว่าไม่อยากกลับมาอยู่ในสถานการณ์กดดันเช่นนี้อีก กระทั่งอยากลด ละ เลิกพฤติกรรมไม่น่ารักลงได้ในที่สุด นอกจากทำใจแข็งแล้ว เคล็ดลับอีกอย่างของการปรับพติกรรมด้วยวิธีนี้คือ ต้องออกคำสั่งด้วยน้ำเสียงหนักแน่น สั้น และกระชับ (ไม่ใช่ตะคอก) เพื่อให้ลูกรู้ว่าเขากำลังทำให้คนอื่นไม่พอใจ และเพื่อหยุดการกระที่ผิดๆ ไม่ว่าลูกจะจงใจทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือประชดประชันใครก็ตาม เช่น ตีน้อง ทำลายข้าวของ ฯลฯ  

การทำ Time Out มีข้อควรระวังด้วย คือ โซนเข้ามุมที่จัดเตรียมไว้ควรอยู่ในสายตาของพ่อแม่เสมอ เพื่อให้คุณยังคอยสังเกตความปลอดภัยให้ลูกได้ ห้ามจัดไว้ใกล้ระเบียงหรือของมีคม เพราะลูกอาจเผลอทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่คาดฝันได้ นอกจากนี้โซนนั้นๆ ยังไม่ควรมีของเล่นหรือของล่อตาล่อใจอื่นๆ ที่ดึงความสนใจจากเจ้าตัวเล็กได้ ไม่เช่นนั้นการนั่งทบทวนตัวเองอาจไม่ได้ผลอะไรเลย

การปรับพฤติกรรมด้วยการทำ Time In และ Time Out ดูออกจะต่างกันสุดขั้ว พ่อแม่จึงควรเลือกปรับใช้ให้เหมาะกับลักษณะนิสัยของลูก เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกเครียดหรือกดดันมากเกินไป แล้วอย่าลืมหมั่นเติมความรักและความเข้าใจให้เขาอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อให้เด็กๆ รู้ว่าแม้จะถูกทำโทษ แต่พ่อแม่ก็ยังไม่ทิ้งเขาไปไหน

SHARE

RELATED POSTS

คุณพ่อคุณแม่แน่ใจหรือเปล่าว่าท่าอุ้มลูกที่ทำอยู่ทุกวันนี้ปลอดภัยกับเจ้าตัวเล็ก? เรามี 6 ท่าอุ้มลูกที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กมาฝาก…
แชร์เทคนิคเลือกเนอร์สเซอรี่ หรือเตรียมก่อนอนุบาล หลักสำคัญที่พ่อแม่ต้องใส่ใจมีอะไรบ้าง เพื่อให้ลูกน้อยได้สิ่งดีที่สุด…
ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่ามีความซื่อสัตย์มากที่สุดในโลก ตามไปดูกันว่า… คนญี่ปุ่นเขามีวิธีเลี้ยงลูก และสอนลูกให้ซื่อสัตย์แบบนี้ได้อย่างไร…
ฝึกคัดลายมือให้กับลูกควรเริ่มที่ช่วงวัยไหน ถ้ายังไม่รู้..ก็มาดูว่าแต่ละวัยต้องฝึกอย่างไร ที่นี้ลูกของเราก็จะมีลายมือสวย แถมฝึกสมาธิไปในตัวอีกด้วย…
เสียงดนตรี ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการรอบด้านให้ลูกน้อย หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเริ่มเรียนดนตรี แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตอนอายุเท่าไหร่…